ในปัจจุบันนี้การปลูกมันเทศในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ได้มีการนำพันธุ์มันเทศจากต่างประเทศมาปลูกในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น อาทิ มันเทศเนื้อสีเหลือง, เนื้อสีม่วงและเนื้อสีส้ม จากประเทศญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลีใต้
. เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าในปัจจุบันนี้การปลูกมันเทศในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ได้มีการนำพันธุ์มันเทศจากต่างประเทศมาปลูกในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น อาทิ มันเทศเนื้อสีเหลือง, เนื้อสีม่วงและเนื้อสีส้ม จากประเทศญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ เป็นต้น โดยแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีคุณค่าทางอาหารแตกต่างกัน จากข้อมูลพบว่า “มันเทศเนื้อสีส้ม” เป็นแหล่งของสารเบตาแคโรทีน เมื่อทานแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ จะช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยบำรุงสายตาป้องกันโรคตาบอดกลางคืน ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังอุดมไปด้วยวิตามินซีและทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย และใน “มันเทศเนื้อสีม่วง” จะมีสารแอนโทไซยานินสูง มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดอัตราเสื่อมของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตัน ชะลอความเสื่อมของดวงตา ยับยั้งเชื้ออีโคไลซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษและท้องร่วง ที่สำคัญเป็นมันเทศที่มีรสชาติอร่อย อย่างกรณีของมันเหลืองญี่ปุ่นปัจจุบันมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศและนำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคคนไทยในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท
“สวนคุณลี” อ.เมือง จ.พิจิตร ได้นำมันเทศสายพันธุ์จากต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นสายพันธุ์จากญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ ประมาณ 10 สายพันธุ์เข้ามาปลูกในเชิงการค้า ในเขตพื้นที่ จ.พิจิตร จนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจให้ผลผลิตและรสชาติหวานตรงตามสายพันธุ์ สามารถจำหน่ายได้ กก. ละ 80-100 บาทออกจากสวน จากการปลูกมันเทศในแปลงที่มีการเตรียมดินและระบบน้ำที่ดี ได้มีการประยุกต์วิธีการปลูกในรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมให้คนไทยปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือน, มีพื้นที่น้อย, อยู่ในบ้านจัดสรรหรือปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริมด้วยการ “นำมาปลูกในพื้นที่จำกัด” เช่น ถุงพลาสติกดำ, กระสอบปุ๋ยเก่า, ตะกร้าพลาสติก, ยางรถยนต์เก่า, วงบ่อปูน ฯลฯ ใช้เวลาปลูกเพียง 3.5-4.5 เดือนเท่านั้น (ตามอายุเก็บเกี่ยวแต่ละสายพันธุ์) สามารถขุดหัวมาบริโภคหรือจำหน่ายได้ สำหรับวัสดุปลูกที่สำคัญคือ ดินร่วน, แกลบดำ, แกลบดิบและปุ๋ยคอกเก่า (หรือประยุกต์ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น) ในอัตราส่วน 1:1:1:1 ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันนำวัสดุปลูกใส่ลงในถุงให้เต็มและอัดให้แน่น
จากนั้นนำถุงพลาสติกไปวางไว้บริเวณกลางแจ้งรดน้ำให้ชุ่ม นำยอดมันเทศที่เตรียมไว้ (ตัดยอดให้มีความยาว 30 เซนติเมตร) ใช้ไม้แหลมแทงดินในถุงให้เป็นรู ให้รูเฉียงประมาณ 45 องศาโดยประมาณ นำยอดปลูกลงไปให้มีความลึกประมาณ 3-5 ข้อ โดยจำนวนยอดที่จะปลูกลงไปก็ขึ้นอยู่กับขนาดของภาชนะที่เลือกใช้ เช่น ถุงดำก็จะใช้ยอดพันธุ์มันเทศ ราว ๆ 3-5 ยอด กดดินให้แน่นพอประมาณ ช่วง 7 วันแรกหลังจากที่ปักยอดมันเทศลงไปควรจะรดน้ำเป็นประจำทุกเช้า (ระวังอย่าปล่อยให้ถุงแห้งขาดน้ำ) หลังจาก 7-10 วัน จะพบว่ายอดมันที่ปักชำลงไปเริ่มแทงรากออกมาให้เว้นการให้น้ำให้ห่างขึ้นเป็นวันเว้นวันและห่างเป็น 2-3 วันต่อครั้งตามความเหมาะสม เมื่อต้นมันเทศมีอายุต้นได้ 45 วันและพบว่าใบมันเทศไม่มีอาการเหี่ยวให้เห็นก็ไม่จำเป็นจะต้องให้น้ำ เนื่องจากการให้น้ำบ่อย ๆ จะทำให้ต้นมันเทศมีอาการบ้าใบและไม่ลงหัว
การปลูกมันเทศในถุงพลาสติกและมีความต้องการให้มีการลงหัวและรสชาติที่ดีจำเป็นต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีบ้างเพื่อปรับปรุงคุณภาพ ในช่วงแรกใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 เพียง 1 ช้อนชาทุก ๆ 15 วัน และโดยเฉพาะเมื่อต้นมันเทศมีอายุครบ 2 เดือน เป็นช่วงของการลงหัวควรจะใส่ปุ๋ยเคมีที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น สูตร 16-16-16 หรือ สูตร 13-13-21 ฯลฯ เพื่อให้หัวมันเทศใหญ่ มีรสชาติหวานตามสายพันธุ์ ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตมันเทศอายุต้นจะต้องเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง 100-140 วัน โดยอาจจะสุ่มขุดดูว่าหัวมันเทศมีขนาดที่เราต้องการนำมาบริโภคได้หรือยัง
ปัจจุบัน ’มันเทศ“ จัดเป็นสุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพที่ตลาดมีความต้องการมากเนื่องจากเป็นมันเทศที่มีปริมาณสารอาหารที่มีประโยชน์สูงมาก ในบางประเทศส่งเสริมให้ทานแทนข้าวในบางมื้อหรือสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ หุงพร้อมข้าว.
ที่มา : เดลินวส์ : ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.dailynews.co.th/agriculture/653871