จากน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกร ชุบชีวิต สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรที่“กูแบสีรา”

  •  
  •  
  •  
  •  

“โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรกูแบสีราตามแนวทางพระราชดำริ ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และทรงเยี่ยมราษฎร ทำให้ชาวบ้านที่ร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มกว่าเท่าตัว”

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรกูแบสีราตามแนวทางพระราชดำริ ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และทรงเยี่ยมราษฎร ทรงได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร โดยเฉพาะหมู่บ้านกูแบสีรา ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ดินร่วนปนทราย ทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินลูกรัง ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร ทำนาเป็นหลัก

ในช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะไหลมาจากเขาตูมและเขาลานควายเอ่อล้นทะลัก และเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตรและหมู่บ้าน เกิดความเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ตามฤดูกาล สัตว์เลี้ยงตาย ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย ถนนถูกตัดขาด ส่วนในฤดูแล้ง ราษฎรมักประสบปัญหาน้ำอุปโภค บริโภค จากบ่อน้ำที่มีสนิมจึงไม่สามารถใช้ดื่มกินได้


ครองศักดิ์ สงรักษา

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี สำนักงานเกษตรอำเภอยะรัง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ น้อมนำแนวทางพระราชดำริ ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ตลอด 20 ปี ป้องกันไม่ให้ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อให้เกษตรกรชาวกูแบสีรามีความสุขอย่างยั่งยืนบนความพอเพียง พออยู่ และพอกิน เฉกเช่นเกษตรกรต้นแบบ นายดาโอะ บือแน เกษตรกรชาวหมู่บ้านกูแบสีรา ผู้สืบทอดอาชีพทำนามารุ่นต่อรุ่น สู่การทำเกษตรแบบผสมผสานที่มีการวางแผนที่ดี สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
.
นายดาโอะ บือแน เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกูแบสีรา ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เดิมประกอบอาชีพทำนามีรายได้เฉลี่ยเพียง 33,600 บาท/ปี ทำการเกษตรโดย การปลูกพืชเชิงเดี่ยวซ้ำ ๆ ทำให้ประสบปัญหาเรื่องโรค แมลง และอาการอื่น ๆ ต้องเสียค่าปุ๋ย ค่ายาในการดูแล รายได้จึงไม่เพียงพอ จึงคิดปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปรับพื้นที่ยกร่องเพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอต่อการทำการเกษตร

จนกระทั่งได้รับโอกาสจากเกษตรอำเภอยะรัง และนางดวง ช่วยเมือง เกษตรกรต้นแบบ ชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมการทำเกษตรแบบผสมผสาน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรกูแบสีราตามแนวทางพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ. 2566 จึงได้ทำการเกษตรผสมผสานทั้งปลูกผักสวนครัว ประมง โดยยึดหลัก “ตลาดนำการผลิต” มีการวางแผนการปลูกพืชให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผลจากการสังเกตและสอบถามจากพ่อค้ารถเร่ขายผักที่เข้ามาขายในหมู่บ้าน และสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่


.
จากการทำการเกษตรแบบผสมผสานที่มีการวางแผนที่ดี ส่งผลให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้เฉลี่ย 75,000 บาท/ปี จากการปลูกแตงโม ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ พริกขี้หนู ผักบุ้ง ข้าวโพดหวาน กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบแดงและมันเทศ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 36,000 บาท/ปี ด้านประมง จำหน่ายปลาดุกมีรายได้เฉลี่ย 22,000 บาท/ปี (ปลาดุก 20,000 ตัวต่อรอบการผลิต ผลิตปีละ 2 รอบการผลิต จำหน่ายกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นเงิน 25,000 บาท ต้นทุนเฉลี่ย 14,000 บาท มีกำไร 11,000 บาทต่อรอบ ) ซึ่งมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตในตลาดชุมชน ที่ว่าการอำเภอยะรัง ตลาดเกษตรกร ณ สำนักงานเกษตรปัตตานี (ตลาดเกษตร มอ.ปัตตานี) และพื้นที่ใกล้เคียง
.
นอกจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรกูแบสีราตามแนวทางพระราชดำริ จะทำให้ นายดาโอะ บือแน มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถลดรายจ่าย ในครัวเรือนด้านค่าอาหารได้มากกว่า 17,000 บาท/ปี (ลดรายจ่ายจากการซื้อข้าวสาร จำนวน 4,800 บาท พืชผัก เนื้อสัตว์ และอื่นๆ จำนวน 12,200 บาท ) เนื่องจากมีข้าว พืชผัก และเนื้อสัตว์ไว้บริโภคเองแล้ว

ดาโอะ บือแน

ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 75,000 บาท/ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมและเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังมีเงินเก็บออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งบุตรเล่าเรียน มีทุนทางการทำการเกษตร รวมทั้งมีองค์ความรู้เรื่องการปลูกแตงโมช่วงฤดูแล้ง โดยการขุดหลุม จำนวน 100 หลุม ขนาดกว้าง 50 X 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยฟางข้าว ตามด้วยปุ๋ยมูลไก่และปุ๋ยอินทรีย์ผงผสมกับหน้าดินหลุมปลูก คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วหยอดเมล็ดลงหลุมทั้งสี่มุม เว้นกลางหลุมไว้รดน้ำและใส่ปุ๋ย

หลังจากนั้นใส่ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ผง ตามช่วงอายุการเจริญเติบโต จำนวน 3 ครั้ง ได้ผลผลิต จำนวน 1,500 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 10 – 15 บาท จากรูปแบบการปลูกดังกล่าวทำให้แตงโมเจริญเติบโตดี มีรสหวานเป็นที่ต้องการของลูกค้า รับรองด้วยคำบอกเล่าและการกลับมาซื้อซ้ำของพ่อค้าที่มารับซื้อจากสวน อีกทั้งยังทำให้เกิดเครือข่ายภายในชุมชนที่เข้ามาพูดคุยสอบถามเรื่องการปลูกแตงโมเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแลกต้นกล้าพันธุ์ผัก เกิดความสามัคคีในชุมชน การทำการเกษตรของเกษตรกรได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน โดยได้ถูกเชิญให้เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรแบบผสมผสานให้กับกลุ่มนักเรียนจากสำนักส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดปัตตานีอีกด้วย

ทั้งนี้ยังมีแนวคิดที่จะทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองมากขึ้น ซึ่งในอนาคตมีความตั้งใจ จะพัฒนาตนเองให้เป็นต้นแบบ ขยายผลไปสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจอาชีพการเกษตร เพื่อให้เข้ามาเติมเต็มเรื่องช่องทาการงตลาด เช่น การขายสินค้าผ่านออนไลน์ และมีเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้เป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี เป็นรายได้จำนวน 225,000 บาท