กรมประมงแจ๋ว!! ผลิต “เสื้อจากขยะทะเล” พบมีคุณสมบัติเด่นนุ่ม สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง ต่อยอดโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ร่วมกับประมงพาณิชย์ เพื่อแก้วิกฤตขยะล้นทะเล ล่าสุดนำร่องนำขยะจากทะเลเข้าสู่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ “เสื้อจากขยะทะเล” พบมีคุณสมบัติเด่นที่นุ่ม สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ได้ด้วย

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตามที่กรมประมง ได้ร่วมกับประมงพาณิชย์ ดำเนินโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยมอบหมายให้ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ทั้ง 30 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานหลักในประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงที่ออกเรือลดการใช้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ยาก ไม่เทเศษสิ่งของเหลือใช้ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ และของใช้ในเรือประมงลงสู่ทะเล รวมทั้งประเมินและบันทึกปริมาณขยะที่ชาวประมงเก็บคืนสู่ฝั่ง

บัญชา สุขแก้ว 

นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือที่จดทะเบียนกับกรมประมง ได้มีส่วนร่วมกับโครงการฯโดยการจัดจุดรวบรวมและคัดแยกขยะจากทะเล ซึ่งปัจจุบันมีเรือประมงลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 4,826 ลำ จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา มีการสรุปรายงานผลปริมาณขยะคืนฝั่งที่เก็บมาได้ ยอดรวมปัจจุบันทั้งหมด จำนวน 408,373 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะที่เก็บในเรือประมง จำนวน 317,725 กิโลกรัม ขยะจากทะเล 90,648 กิโลกรัม โดยประเภทขยะที่พบมากที่สุด ได้แก่ เศษอวน รองลงมาเป็นขวดพลาสติก ขวดแก้ว และขยะอื่นๆ โดยขยะที่รวบรวมได้นั้น จะมีการส่งต่อไปสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องต่อไป

ล่าสุด กรมประมง ร่วมกับสมาคมประมงบ้านแหลม ชาวประมงพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี และภาคเอกชนผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้มีการขยายผลนำขยะทะเลที่เก็บได้ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยมีกรรมวิธีผลิตด้วยการหลอมแปรรูปขยะเป็นเส้นใยรีไซเคิลผสมกับเส้นใยอื่น จากนั้นนำไปถักทอขึ้นรูปใหม่เป็น “เสื้อ” มีคุณสมบัติที่นุ่ม สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ได้

ทั้งเสื้อ 1 ตัวผลิตจากขยะขวดพลาสติกจำนวน 8.5 ขวด ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ถูกเก็บรวบรวมจากทะเล สอดรับแนวคิดในการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าสูงสุด เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ซึ่งสามารถลดขยะพลาสติก และยังสามารถลดโลกร้อนได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และยังช่วยผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขยายออกไปในวงกว้าง ด้วยแนวคิด “Extended Producer Responsibility (EPR) คือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตครอบคลุมตลอดห่วงโซ่วงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผลิตไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค ที่ผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว