ชู “โคกเคียนโมเดล” ต้นแบบน้อมนำหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” ร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขใช้วิธีการสหกรณ์ฟื้นฟูสวนยางพารา สร้างรายได้ยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชู “สหกรณ์ชาวสวนบ้านโคกเคียน” จังหวัดนราธิวาส ใช้ “โคกเคียนโมเดล” แก้ไขปัญหาใบยางพาราร่วงรุนแรง พร้อมกับการฟื้นฟูแปลงยางพาราให้สมบูรณ์ มีความแข็งแรง สามารถต้านโรคได้ดีขึ้น ยืดระยะเวลาการเก็บเกี่ยว สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

นายอัชฌา สุวรรณ์นิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสหกรณ์ชาวสวนบ้านโคกเคียน จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายณัฐกิตติ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการฯ คณะกรรมการ และสมาชิกสหกรณ์ ให้การต้อนรับ

นายอัชฌา กล่าวว่า ตนชื่นชมสหกรณ์ที่พึ่งพาตนเองและมีการคิดนอกกรอบ ซึ่งผู้นำกลุ่มถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนงาน และจะต้องมีการดูแลความสะอาดของต้นยาง แปลงยางพาราผ่านขบวนการที่ทางกลุ่มไปศึกษาด้วยตนเอง รวมทั้งนำนวัตกรรมสร้างภูมิคุ้มกันให้ยาง มีการบริหารจัดการกลุ่มจนประสบความสำเร็จในหลายโครงการผ่าน “โคกเคียนโมเดล” โดยน้อมนำหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชดำรัสไว้มาปรับใช้ในหมู่มวลสมาชิก จนประสบความสำเร็จเป็นโมเดลต้นแบบให้กับจังหวัดนราธิวาสนำไปขยายผลในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ขอให้คณะกรรมการ และสมาชิกสหกรณ์ร่วมมือกันพัฒนาสหกรณ์แห่งนี้ให้เติบโต และเป็นสหกรณ์ต้นแบบในการร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือพี่น้องสมาชิก พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส พร้อมสนับสนุนกิจกรรมของสหกรณ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรสมาชิกต่อไป

ด้านนายณัฐกิตติ์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาพื้นที่นราธิวาสโดยเฉพาะตำบลโคกเคียน ประสบปัญหาโรคใบร่วงยางพารา ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จึงเกิดเป็น “โคกเคียนโมเดล” เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 เริ่มจากตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้วประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องด้านยางพาราเพื่อมาร่วมทำกิจกรรม สำรวจเก็บข้อมูลพื้นฐานรายแปลง ทำการเชื่อมโยงกับข้อมูลการซื้อขาย มีการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ นำไปสู่การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของสหกรณ์ที่เกิดจากการความกันคิด ร่วมกันทำ แก้ไขปัญหาตามวิธีการสหกรณ์ ร่วมกันกำหนดรูปแบบการดำเนินการช่วยเหลือสมาชิก

ด้วยกิจกรรมการฟื้นฟูแปลงยางพาราให้มีความสมบูรณ์ ทดลองใช้สารชีวภาพ ตรวจวิเคราะห์และปรับสภาพดิน จัดการแปลงให้โล่งเตียน ทำปุ๋ยหมักในแปลงยาง ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาเพื่อควบคุมเชื้อโรคในดิน การให้ปุ๋ยทางใบเพื่อฟื้นฟูต้นยางพาราด้วยโดรน ส่งเสริมให้สมาชิกใช้ปุ๋ยจากมูลไส้เดือน นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิความชื้นเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศก่อนหว่านปุ๋ยทุกครั้ง ทั้งนี้ หากสมาชิกสหกรณ์จะนำไปต่อยอด เพื่อฟื้นฟูแปลงยางพารา ให้คำนึงถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายและเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับแปลงของตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของต้นยางพารามีความสมบูรณ์แข็งแรง ต้านโรคและยืดเวลาการเก็บเกี่ยวได้มากขึ้น จะช่วยให้สมาชิกลดรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันสหกรณ์ได้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับน้ำยางและใช้ระบบจีพีเอส ตรวจจับแปลงปลูกไม่ให้มีการปลูกรุกล้ำเขตป่าสงวน จับแปลงยางสมาชิกทุกแปลงเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ เมื่อสมาชิกมาขายจะสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดรู้ได้ทันทีว่าน้ำยางพาราที่นำมาขายมาจากแปลงไหน ซึ่งสหกรณ์นี้เป็นแห่งแรกที่นำระบบตัวนี้มาใช้ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อเข้าสู่กระบวนการซื้อขายเพื่อก้าวไปสู่มาตรฐานสากล ในส่วนการใช้นวัตกรรมเครื่องวัดอุณหภูมิความชื้นในสวนยางที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของลูกหลานสมาชิกที่เก่งด้านไอทีแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในสวนยางพาราก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แก้ปัญหาโรคใบร่วงยางพาราได้สำเร็จ ปัจจุบันสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลานำไปต่อยอดงานวิจัยเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น