พด.จับมือ เอจี ร่วมพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพสูงจากผลพลอยได้ของกระบวนการผลิตน้ำตาล

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ บริษัท เอจี  ทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพสูง จากผลพลอยได้ของกระบวนการผลิตน้ำตาล หวังลดต้นทุนการผลิตปุ๋ยของเกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นายอนุวัชร โพธินาม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และนายสมิทธิ ว่องไพทูรย์ กรรมการบริหาร บริษัท เอจี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การศึกษา วิจัย และพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพสูงจากผลพลอยได้ของกระบวนการผลิตน้ำตาล” ระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับ บริษัท เอจี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนางนวลจันทร์ ชะบา ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน และนายสุริวงศ์ แห้วเพชร หมอดินอาสาจังหวัดอุทัยธานี ร่วมลงนามเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงฯ ณ ห้องประชุม 2801 อาคาร 2 ชั้น 8 กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพมหานคร

นายอนุวัชร  เปิดเผยว่า การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินยินดีและพร้อมจะสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพสูง นวัตกรรมจุลินทรีย์ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การวิเคราะห์ดิน การใช้งานแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยกรมฯ และร่วมมือในการคัดเลือกเกษตรกรตัวอย่าง เพื่อดำเนินโครงการนำร่อง คาดหวังว่า ผลจากความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถลดต้นทุนการผลิตปุ๋ยของเกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชได้อย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศชาติต่อไป

ด้านนายสมิทธิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัท เอจี ประเทศไทย ได้มีนโยบายในส่งเสริมและสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ประกอบด้วย สารปรับสภาพดินที่ผลิตจากกากตะกอนหม้อกรองภายใต้ชื่อการค้า AG Peatmass ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นต้นทางของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยแนะนำให้เกษตรกรนำไปประยุกษ์ใช้ในการบำรุงดิน เพื่อลดต้นทุนจากการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีระยะเวลา 2 ปี ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันดำเนินการศึกษา วิจัยและพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพสูงจากผลพลอยได้ของกระบวนการผลิตน้ำตาล เพื่อที่จะได้นำเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาไปถ่ายทอดสู่เกษตรกร ให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิต รวมถึงพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างถูกต้อง และนำความรู้ไปปรับใช้ในที่ดินของตนเอง ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น