กรมชลประทาน สรุปปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศล่าสุด มีทั้งสิ้นประมาณ 59,539 ล้าน ลบ.ม. หรือ 78%.ของความจุอ่างฯ จัดสรรน้ำไปแล้ว 7,965 ล้าน ลบ.ม เฉพาะ 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มี 80% ขณะที่ผลการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ ปลูกข้าวนาปรังไปแล้วรวม 6.21 ล้านไร่
วันที่ 9 มีนาคม 2568 กรมชลประทาน รายงานถึงสถานการร์ปปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศล่าสุดว่า ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 59,539 ล้าน ลบ.ม. หรือ 78% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 35,599 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 19,799 ล้าน ลบ.ม. (80% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 13,103 ล้าน ลบ.ม.
จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 7,965 ล้าน ลบ.ม. (28% จากแผนฯ) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไปแล้ว 3,089 ล้าน ลบ.ม. (35% จากแผนฯ) ด้านผลการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วรวม 6.21 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังแล้ว 4.90 ล้านไร่
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอยู่ในช่วงบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ กลาง อีสาน และภาคตะวันออก ได้กำชับไปยังโครงการชลประทาน นำข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) มาบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พิจารณาปรับแผนการระบายน้ำให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ด้วยความประณีต โดยเฉพาะเขตทุ่งบางระกำ และพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา ที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังเป็นจำนวนมาก ตลอดจนสำรองน้ำไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้า พร้อมเฝ้าระวังรักษาคุณภาพน้ำร่วมกับการประปานครหลวง (กปน.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ