สหกรณ์ฯท่าแพ เดินหน้าแก้จน หนุนสมาชิกปลูก “สละสุมาลี-เกษตรวิถีใหม่” หวังรายได้เสริมจากสวนยาง-ปาล์ม

  •  
  •  
  •  
  •  

สหกรณ์การเกษตรท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล เดินหน้านโยบายร่วมใจแก้จนของคนสหกรณ์ ด้วยเกษตรวิถีใหม่ หนุนสมาชิกปลูกสละสุมาลี เลี้ยงโค เพิ่มรายได้ หลังราคายางและปาล์มน้ำมันตกต่ำ พร้อมชูทำเกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หวังลดรายจ่ายในครัวเรือน นำร่องไปแล้ว 17 ราย เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

นายประชา กาสาเอก ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรท่าแพ จำกัด กล่าวถึงการส่งเสริมเกษตรวิถีใหม่แก่สมาชิกเพื่อเพิ่มรายได้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนว่า ปัจจุบันราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน ราคาตกต่ำต้องเฟ้นหาอาชีพเกษตรใหม่ ๆ เนื่องจากยางพาราไม่สามารถกรีดได้ทุกวัน  ทำให้สมาชิกไม่มีรายได้ ส่งผลกระทบต่อการชาระหนี้กับสหกรณ์ ทั้งมีความล่าช้าและไม่สามารถชาระหนี้ได้ จึงทำให้สหกรณ์มีหนี้เสีย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกด้วยการหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากอาชีพหลักที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรท่าแพ มีสมาชิก 2,000 กว่าครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยาง ปลูกปาล์มน้ำมัน ทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงโคขุน ปลูกสละสุมาลี มีนำร่อง17 รายเฉลี่ยรายละ 3-5 ไร่ ๆ ละ 68 ต้น ปลูกมา 3 ปีกว่าแล้ว จะเริ่มให้ผลผลิตปลายปีนี้ (2566) โดยสหกรณ์จะให้เงินทุนรายละไม่เกิน 2 แสนใน 5 ปี ปลอดดอก 3 ปี เป็นเงินกู้ในโครงการชุมชนสร้างไทยของกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์ของผมได้มา 17 ล้านแล้วมาปล่อยให้สมาชิกกู้ต่อ

สำหรับการกู้ของสมาชิกแต่ละรายได้จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อแม่พันธุ์โคขุนในระยะต้นน้ำที่สหกรณ์ฯให้การสนับสนุนรายละ 3 ตัว การปลูกสละพันธุ์สุมาลี นอกจากนี้ยังมีการทำเกษตรผสมผสาน การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ภายใต้โครงการโคกหนองนาโมเดล ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการผลิตต้นทุนต่ำ ด้วยการให้สมาชิกผสมปุ๋ยใช้เองสูตรต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนากรผลิต แทนการซื้อปุ๋ยสำเร็จรูปที่มีราคาแพงเนื่องจากสหกรณ์มีโรงผสมปุ๋ยอยู่แล้ว

“ทำไมต้องมาลงที่สละ ไม่ปลูกไม้ผลอื่นเช่นทุเรียน เพราะเรามองว่าสละมีอายุที่ยืนยาว 40-50 ปีและการดูแลก็ง่าย ไม่เหมือนกับทุเรียน บางทีปลูกมาได้ 3-4 ก็ตายเพราะโรคเยอะ เลยให้สมาชิกลองปลูกสละพันธุ์สุมาลีดู เพราะที่นี่ยังไม่มีใครปลูก พาไปดูงานที่พัทลุงเมื่อ 3 ปีที่แล้วนำต้นพันธุ์มาทดลองปลูก ปรากฏว่าเจริญเติบโตได้ดี ปลายปีนี้ก็จะเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว เพราะะสละจะให้ผลผลิตเต็มที่อายุ 5 ปีขึ้นไป ” นายประชา  กล่าว