จากภูหัวโล้นที่บ้านสบขุ่น สู่แปลงกาแฟคุณภาพระดับดีมาก วันนี้ผลผลิตถูกเสริฟในร้านดัง “ทรูคอฟฟี่” แล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

       “เมล็ดกาแฟจากการสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรบ้านสบขุ่น ได้ขยายผลส่งมอบคุณค่าสู่ “ร้านทรูคอฟฟี่” ในกรุงเทพฯ รวมถึงร้านกาแฟบ้านสบขุ่น ณ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือซีพี จ.น่านด้วย”

       ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 สำหรับโครงการปลูกกาแฟร่วมกับฟื้นฟูป่าในพื้นที่บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ในพื้นที่เริ่มต้นจากศูนย์ ปลูกกาแฟในพื้นที่ที่เป็นดอยหัวโล้น ที่ริเริ่มโครงการในปี 2558 สู่ปัจจุบันในปี 2565  

       “สบขุ่นโมเดล” ดำเนินโครงการภายใต้การสนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ฯลฯ ส่งผลลัพธ์ด้านมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถส่งเสริมเกษตรกรได้ 97 ครัวเรือน สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 707,863 บาท  และคืนผืนป่า 2,100 ไร่  นำไปสู่เป้าหมายการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในชุมชน ได้พื้นที่ป่ากลับคืนมา

        ที่สำคัญมีการทำเกษตรอย่างถูกต้อง ส่งผลให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมและพัฒนาให้คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชน ผู้คนมีรายได้และมีอาชีพจากการปลูกกาแฟภายใต้ต้นไม้ใหญ่ในผืนป่าของพื้นที่หมู่บ้านสบขุ่น จ.น่าน สืบไป

ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ผลผลิตกาแฟพันธุ์อาราบิก้าของวิสาหกิจชุมชน สร้างป่า สร้างรายได้ บ้านสบขุ่น  ได้รับประกาศนียบัตรเหรียญทองแดง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก ในโครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2565  ที่จัดขึ้นโดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนจัดขึ้น

       เพื่อหาเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ตั้งแต่การปลูก จนถึงการแปรรูป จนได้เป็นเมล็ดกาแฟไทยเกรดพิเศษ นอกจากนี้ยังรณรงค์และส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ  ตระหนักถึงความสำคัญในการปลูกและการแปรรูปกาแฟ  มุ่งพัฒนากาแฟไทยให้มีคุณภาพดีสู่ระดับโลก เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ และความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร

นายอรรถวิทย์ ยุทธยศ ผู้จัดการทั่วไป ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่สามารถพัฒนา ยกระดับคุณภาพกาแฟบ้านสบขุ่นให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ตั้งแต่เริ่มโครงการปลูกกาแฟร่วมกับฟื้นฟูป่าในพื้นที่บ้านสบขุ่น ตั้งแต่ปี 2559 ในพื้นที่เริ่มต้นจากศูนย์ ปลูกกาแฟในพื้นที่ที่เป็นดอยหัวโล้น ไม่มีต้นไม้สักต้น เนื่องจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

         ในที่สุดส่งผลให้ดินที่จะนำมาปลูกกาแฟเสื่อมคุณภาพ ทางเครือซีพี วิสาหกิจชุมชนฯ และภาคีภาครัฐ พยายามหาวิธีพัฒนาต้นกาแฟให้อยู่รอดและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ที่จะนำมาปลูก การจัดการระบบน้ำ ฯลฯ  เรียกว่าล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกันมาพอสมควร

                                                                                            อรรถวิทย์ ยุทธยศ

           อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสบขุ่นเคยส่งกาแฟจากบ้านสบขุ่นเข้าประกวดถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 แต่ยังไม่ผ่านมาตรฐานการประกวด เราจึงมาคิดปรับปรุง พัฒนากระบวนการผลิตใหม่ โดยคำนึกถึงคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้กาแฟทุกเมล็ดที่ปลูกมีคุณภาพ จึงส่งผลให้ปีนี้ได้ผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจ สุดท้ายต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมกันพัฒนากาแฟบ้านสบขุ่นให้เป็นที่ยอมรับ ถือว่าเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจร่วมกัน

         เมล็ดกาแฟจากการสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรบ้านสบขุ่น ได้ขยายผลส่งมอบคุณค่าสู่ “ร้านทรูคอฟฟี่” ในกรุงเทพฯ รวมถึงร้านกาแฟบ้านสบขุ่น ณ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือซีพี จ.น่านด้วย โดยผ่านกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน การคั่วเมล็ดกาแฟในระดับการคั่วที่ให้รสชาติที่ดีที่สุด ตลอดจนการสกัดด้วยอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้กาแฟคุณภาพดีในทุก ๆ แก้วที่เสิร์ฟให้ลูกค้า 

        ด้าน นางสาวสุชานันท์  นวลศรี เจ้าหน้าที่ประจำโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้ บ้านสบขุ่น เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่กาแฟบ้านสบขุ่นได้รับประกาศนียบัตรเหรียญทองแดง ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก ในโครงการประกวดครั้งนี้  หวังอย่างยิ่งให้กาแฟบ้านสบขุ่นของเรามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ยิ่งทำให้รู้ว่าการทำงานหนักส่งผลดีต่อกาแฟบ้านบ้านสบขุน

         เนื่องเพราะที่ผ่านมาเกษตรกรเอาใจใส่ในการดูแลแปลงกาแฟอย่างมาก ทั้งการใส่ปุ๋ยให้ตรงเวลา  การตัดแต่งกิ่ง และกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เมล็ดกาแฟสมบูรณ์ที่สุด  และที่ขาดไม่ได้ คือขั้นตอนสุดท้าย คือการเก็บเมล็ดกาแฟที่สุกแดงฉ่ำ จึงได้กาแฟที่มีรสชาติดี มีคุณภาพออกสู่ตลาดนั่นเอง 

          โครงการปลูกกาแฟร่วมกับฟื้นฟูป่าในพื้นที่บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภายใต้การสนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ไม่เพียงแต่จะส่งผลลัพธ์ด้านมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม หากแต่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้เกษตรกรในชุมชน แถมยังได้ผืนป่าอีก 2,100 ไร่อีกด้วย