จากชิ้นส่วนดอกกุหลาบบูชาท้าวเวสสุวรรณที่เหลือใช้ สู่ผลิตภัณฑ์กุหลาบอธิษฐาน สุดยอดงานวิจัย มรภ.สวนสุนันท์ ที่สร้างอาชีพ-สร้างรายได้ ให้ชุมชน

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมมือกับวัดจุฬามณี เพิ่มมูลค่าชิ้นส่วนดอกกุหลาบบูชาท้าวเวสสุวรรณที่เหลือใช้ มารีไซเคิลสู่งานวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์กุหลาบอธิษฐานใช้ในงานมงคลต่างๆ เจ้าอาวาสสุดปลื้มจากเดิมที่ต้องกำจัดวันละกว่าครึ่งแสนดอก ใช้เงินวันละ 8,000 บาท กลับมาสร้างรายได้ให้กับวัดและชุมชน

รศ.ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนา และศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เหลือใช้จากกุหลาบบูชา” ขึ้น โดยร่วมมือกับวัดจุฬามณีและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

รศ.ดร.รจนา จันทราสา

เนื่องด้วยวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในอำเภออัมพวา ที่ประชาชนต่างหลั่งไหลมาเคารพกราบไหว้ขอพร “ท้าวเวสสุวรรณ” ในปัจจุบันจะมีประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา นำดอกกุหลาบมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมากอย่างไม่ขาดสาย ปัญหาที่ตามมาคือวัดต้องจัดการของเหลือใช้จากการบูชาเพิ่มขึ้นทุกขณะ ซึ่งไม่เพียงเสียค่าใช้จ่ายยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ดังนั้น โครงการวิจัยนวัตกรรมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เหลือใช้ฯจึงตอบโจทย์ความต้องการของวัดและชุมชน ในการพัฒนาสิ่งเหลือใช้จากกุหลาบบูชามาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สร้างมูลค่าเพิ่ม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.ภญ.พิมพร ทองเมือง

ด้าน ผศ.ดร.ภญ.พิมพร ทองเมือง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เหลือใช้จากกุหลาบบูชา วัดจุฬามณี จะนำทุกส่วนของกุหลาบมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งหมด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลีบดอกและก้านดอก สำหรับกลีบดอกกุหลาบ จะสามารถนำมาแปรรูปได้ทั้งรูปแบบกลีบดอกสดนำมาบดแล้วคั้นน้ำเพื่อนำไปย้อมกระดาษสีกุหลาบ ซึ่งจะได้โทนสีม่วงอ่อน ชมพูอ่อน ทำเป็นยันต์ท้าวเวชสุวรรณ

ส่วนกากที่เหลือจากการคั้นน้ำจะนำไปอบแห้งเช่นเดียวกับกลีบกุหลาบสดและใบของดอกกุหลาบ ที่ต้องนำไปอบแห้งในตู้อบอุณหภูมิที่เหมาะสมจนแห้งสนิท เพื่อนำมาปั่นเป็นผงกุหลาบจะได้ออกมา 3 โทนสีสวยงาม สำหรับทำเป็นผงมวลสารกุหลาบอธิษฐานใช้ในงานขึ้นบ้านใหม่หรืองานมงคล ผงจากดอกกุหลาบยังสามารถนำมาเป็นส่วนผสมของธูปอธิษฐานเสี่ยงทายโชคลาภ และเป็นส่วนผสมของดินปั้นดอกกุหลาบเป็นของที่ระลึกหรือดอกกุหลาบฐานรองบูชาท้าวเวสสุวรรณได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังสามารถสกัดน้ำมันจากดอกกุหลาบเป็นสารตั้งต้นทำสีผึ้งหรือลิปบาล์ม เป็นสูตรเฉพาะสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ส่วนก้านดอกกุหลาบนั้นจะนำไปตากแห้งแล้วจึงส่งต่อไปให้วิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นเพื่อผลิตเป็นกระดาษสาจากกุหลาบ แล้วทางมหาวิทยาลัยจะรับซื้อกระดาษของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้ทางวัดจุฬามณี นำไปทำเป็นยันต์ท้าวเวชสุวรรณ

จนถึงขณะนี้สามารถสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์กุหลาบอธิษฐานได้หลากหลายชนิด ได้แก่ ผงมวลสารกุหลาบอธิษฐาน น้ำมันกุหลาบ ยันต์ท้าวเวสสุวรรณสกัดสีกุหลาบ สีผึ้งสกัดน้ำมันกุหลาบ ธูปบูชาจากผงกุหลาบ โดยทางวัดจุฬามณีได้ทำการปลุกเสกผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเพื่อให้ประชาชนได้นำไปบูชา และทางวัดได้นำรายได้จากการบูชาผลิตภัณฑ์กุหลาบอธิษฐานทั้งหมดคืนกลับไปช่วยเหลือชุมชนต่อไป

ขณะที่พระครูไพศาลกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจุฬามณี กล่าวว่า ก่อนที่จะได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ทางวัดก็มีปัญหาในเรื่องการกำจัดดอกกุหลาบที่ประชาชนนำมาไหว้บูชาท้าวเวสสุวรรณ วันหนึ่งไม่น้อยกว่า 50,000-60,000 ดอก ถ้าเป็นช่วงวันหยุดจะมากถึง 100,000 ดอก ต้องเสียค่ากำจัดไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท/วัน

กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันวิจัยและพัฒนา และศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ทำโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์กุหลาบอธิษฐานขึ้นมา ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาการกำจัดของเหลือใช้จากการบูชาที่มีมากขึ้นทุกวัน ยังทำให้วัดมีรายได้จากการให้เช่าบูชาผลิตภัณฑ์กุหลาบอธิษฐานเหล่านี้นำมาช่วยเหลือคนในชุมชนได้ด้วย ซึ่งระยะเวลาดำเนินการเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้นแต่ได้รับผลตอบรับดีมาก โดยทางวัดได้นำเงินรายได้จากส่วนนี้ทั้งหมดไปเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในจังหวัดสมุทรสงครามไปแล้วกว่า 100 ทุนๆ ละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 500,000 บาท

ที่สำคัญในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ทางวัดจุฬามณี จะนำเงินรายได้ไปมอบทุนให้กับเด็กนักเรียนอีก 200 ทุน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย