สศก.ลงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ สำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ส้มเขียวหวาน ปี 67 ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ พบว่าบางพื้นที่ของจังหวัดแพร่และสุโขทัย เกษตรกรเริ่มมีการปล่อยแปลงส้มเขียวหวานทิ้งร้าง และเริ่มมีการปรับพื้นที่โดยการปลูกพืชอื่นแซม เน้นทุเรียน เผยงสาเหตุหลักต้นทุนการดูแลส้มเขียวหวานที่สูงขึ้น แถมยังประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช การขาดแคลนน้ำ ราคาผลผลิตส้มเขียวหวานที่มีแนวโน้มตกต่ำลง
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics: GI) ซึ่งเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการจัดทำข้อมูลด้านเกษตรในการสำรวจและจัดเก็บค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ของเนื้อที่ยืนต้นการเพาะปลูกพืช ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความถูกต้อง แม่นยำขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลาในการสำรวจ มีการแปลผลวิเคราะห์เบื้องต้นด้วยภาพถ่ายดาวเทียมก่อนการสำรวจ รวมถึงไม่ต้องใช้เวลาในการสำรวจเพื่อหาหมู่บ้านตัวอย่าง เนื่องจากวิเคราะห์เป็นลักษณะของเนื้อที่ยืนต้นที่ปรากฏขึ้นจริง และเป็นปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา สศก. ได้เริ่มพัฒนาและดำเนินการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ GI มาตั้งแต่ปี 2550 ในพืชสำคัญ อาทิ ข้าว (ข้าวนาปี และข้าวนาปรัง) มันสำปะหลังโรงงาน สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ซึ่งอาจมีการปรับพืชดำเนินงานเพิ่มเติมตามนโยบายด้านเกษตร
ฉันทานนท์ วรรณเขจร
ล่าสุด สศก. โดยศูนย์สารสนเทศการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ และ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก ได้บูรณาการลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 13 – 25 ธันวาคม 2567 เพื่อจัดเก็บค่าพิกัดเนื้อที่ยืนต้น และติดตามสถานการณ์การผลิตส้มเขียวหวาน ปี 2567 พื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics: GI) สำหรับใช้ประกอบการแปลวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) เนื้อที่ยืนต้นส้มเขียวหวาน ปี 2567 เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการจัดทำข้อมูลเอกภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการผลผลิตส้มเขียวหวาน โดยก่อนดำเนินงานได้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ของเนื้อที่ยืนต้นส้มเขียวหวานด้วยการใช้ฐานข้อมูล ปี 2566 และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ปราศจากเมฆปกคลุม และเป็นภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดปานกลาง (Moderate Resolution Satellite Imagery) ที่ให้บริการฟรีโดย European Space Agency สหภาพยุโรป
จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภาคสนาม ในแหล่งเพาะปลูกส้มเขียวหวานที่สำคัญ จำนวน 4 จังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งผลผลิตส้มเขียวหวานที่สำคัญ ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 และ 2 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (40 ตัวอย่าง) เชียงราย (24 ตัวอย่าง) สุโขทัย (32 ตัวอย่าง) และแพร่ (16 ตัวอย่าง) รวม 112 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบว่าพื้นที่ตัวอย่างนั้น เป็นเนื้อที่ยืนต้นส้มเขียวหวาน ตรงตามผลการแปลวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมหรือไม่ ก่อนนำไปปรับปรุงฐานข้อมูล ปี 2567
นอกจากนี้ ได้มีการสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานในพื้นที่สำรวจ พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ปลูกพันธุ์สายน้ำผึ้ง และพันธุ์สีทอง ในขณะที่จังหวัดแพร่ และสุโขทัย นิยมปลูกพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์สีทอง ขณะเดียวกัน พบว่าในบางพื้นที่ของจังหวัดแพร่และสุโขทัย เกษตรกรเริ่มมีการปล่อยแปลงส้มเขียวหวานทิ้งร้าง และเริ่มมีการปรับพื้นที่โดยการปลูกพืชอื่นแซม เช่น ทุเรียน ซึ่งสาเหตุหลักเนื่องจากต้นทุนการดูแลส้มเขียวหวานที่สูงขึ้น อีกทั้งยังประสบปัญหาหลายด้าน เช่น สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช การขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและราคาผลผลิตส้มเขียวหวานที่มีแนวโน้มตกต่ำลง
ด้านนางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ไทย มีเนื้อที่ปลูกส้มเขียวหวานทั้งประเทศ 129,921 ไร่ ลดลงจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่ 130,521 (ลดลง 600 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.46) มีผลผลิตรวม 282,599 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีผลผลิต 288,467 ตัน (ลดลง 5,868 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2.03) โดยในส่วนของ 4 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย และแพร่ มีผลผลิตรวม 168,204 ตัน โดยผลผลิตมากสุดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้านสถานการณ์ราคา ในช่วงเวลาสำรวจดังกล่าว ณ เดือน ธันวาคม 2567 พบว่า ราคาขายส้มเขียวหวาน ณ หน้าสวน (Farm Gate Price) อยู่ระหว่าง 9 – 16 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ถือว่าผลผลิตส้มเขียวหวานน้อยลง โดยเกษตรกรเริ่มมีการเก็บผลผลิตส้มเขียวหวานตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567 ถึงปลายเดือนมีนาคม 2568
ทั้งนี้ ผลการสำรวจจะถูกนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 ที่ดาวน์โหลด เดือนธันวาคม 2567 ประโยชน์ของการจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่เนื้อที่ยืนต้นส้มเขียวหวาน ปี 2567 คือ สามารถอ้างอิงข้อมูล ในระดับพื้นที่ได้ว่ามีเนื้อที่ยืนต้นอยู่ในพิกัดใด รวมทั้งนำไปใช้ประกอบการจัดทำข้อมูลเอกภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการจัดทำมาตรการและนโยบายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะประมวลผลวิเคราะห์แล้วเสร็จภายในมกราคม 2568 และ สศก. มีแผนจะลงพื้นที่สำรวจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics: GI) ในเดือนมีนาคม ต่อไป