มก.จับมือ 7 อบจ. เร่งแก้ไขปัญหาผักตบชวา-สร้างอาชีพให้ประชาชน

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงตวามร่วมมือ ในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปจัดการและแก้ไขปัญหาผักตบชวาและสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 7 จังหวัด ได้แก่  จ. เชียงราย จ.นครพนม จ.มหาสารคาม จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.หนองบัวลำภู และ จ.อำนาจเจริญ   

โอกาสนี้ ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน ผศ.ดร.ชัยสิทธิ์ ทองจู คณบดีคณะเกษตรกำแพงแสน ผศ.วุฒิพงศ์ ศิลปวิศาล รองคณบดีฝ่ายกายภาพและภูมิสถาปัตย์ คณะคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมเป็นเกียรติในพิธี

สำหรับผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.อนามัย  ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด 7 จังหวัด ได้แก่ นายยุทธนา ศรีตะบุตร  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ดร.วุฒิพงษ์ ศิริสถิต นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู นางสาววันเพ็ญ ตั้งสกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม  ดร.คมคาย อุดรพิมพ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม และ ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 7 จังหวัด ได้แก่ จ. เชียงราย จ.นครพนม    จ.มหาสารคาม จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.หนองบัวลำภู และ จ.อำนาจเจริญ ตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปจัดการและแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำ ให้เป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาทักษะแรงงาน และการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในจังหวัด   โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ งานถ่ายทอดเทคโนโลยี งานบริการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนงานบริการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ชีวภัณฑ์ และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

สำหรับผลงานวิจัยที่นำมาใช้ในการกำจัดผักตบชวา นั้น มีชื่อว่า  KPS: Selective bioherbicide” to control water hyacinth in Thailand (เคพีเอส ชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชแบบเลือกทำลายเพื่อควบคุมผักตบชวา) เป็นผลงานของ รศ. ดร. จินตนา อันอาตม์งาม หัวหน้าภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน และ อ.ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยผลงานเป็นที่ประจักษ์ที่ได้มีการทดสอบในพื้นที่จริงหลายแห่ง และได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในเวทีระดับชาติและนานาชาติ ได้แก่

1.รางวัลเหรียญทองแดง จากการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในงาน THE 15TH INTERNATIONAL WARSAW INVENTION SHOW” (IWIS 2021) ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 25-27ตุลาคม พ.ศ. 2564

2.รางวัลเหรียญเงิน จากการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในงาน 2021 Kaohsiung International Invention and Design EXPO (KIDE) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม พ.ศ. 2564

3.รางวัลเหรียญทอง จากการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในงาน Seoul International Invention Fair (SIIF 2021) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 4-5 ธันวาคม พ.ศ. 2564

4.รางวัลเหรียญทองและ WIIPA Special Award จากการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในงาน 2022 Shanghai International Invention & Innovation Expo ณ กรุงเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14-16 เมษายน พ.ศ. 2565

รศ. ดร. จินตนา อันอาตม์งาม กล่าวว่าเนื่องจากผักตบชวาเป็นวัชพืชน้ำที่มีการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และเป็นปัญหาทางแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นปัญหาต่อชุมชน การเกษตร การคมนาคม อย่างไรก็ตามยังไม่มีเทคโนโลยีใดหรือแนวทางที่สามารถกำจัดผักตบชวาจากแหล่งน้ำได้อย่างยั่งยืนและลดงบประมาณการกำจัดผักตบชวาได้  ดังนั้น จึงได้คิดค้นและพัฒนาสารชีวภัณฑ์จากเชื้อราที่มีศักยภาพในการควบคุมการระบาดของผักตบชวาในแหล่งน้ำ ซึ่งผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยในด้านต่างๆ แล้ว การศึกษากลไกการก่อให้เกิดโรคโดยเอนไซม์หรือสารที่เชื้อราสร้างขึ้นมา และมีผลต่อผักตบชวาทำให้แห้งตาย

ด้าน อ.ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม กล่าวว่า ความสำเร็จของผลงานวิจัยที่ได้ศึกษามานานกว่า 12 ปี  สามารถขยายผลการใช้ประโยชน์และถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบการบริการวิชาการสู่ชุมชนต่างๆ รวมถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำสำคัญ คลองชลประทาน และอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาโดยสามารถนำไปใช้ร่วมกับวิธีเดิม ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณสำหรับการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้

ข่าวโดย…. นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์