บอร์ดเกลือลุยภาคตะวันออกหนุนแปรรูปเกลือทะเล-ใช้ในสวนผลไม้-บ่อกุ้ง หวังเสริมรายได้ให้เกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  

“บอร์ดเกลือ” ยกทีมลงพื้นที่นาเกลือภาคตะวันออก หาแนวทางสนับสนุนในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และใช้ในสวนผลไม้ นากุ้ง วงการปศุสัตว์ หวังเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาเกลือใน จ.จันทบุรี 

     นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เปิดเผยวันนี้ภายหลังประชุมคณะกรรมการเกลือทะเลไทย  ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรีเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.65 ว่า ที่ประชุมบอร์ดเกลือรับทราบ ดังนี้

         1. แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกลือทะเลไทย โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี พบว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าใหม่ และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้ดำเนินการพัฒนากลุ่มเกษตรกรเกลือทะเล อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตดอกเกลือและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ขัดหน้า ขัดผิว แช่ผิว แช่เท้า และสบู่ เป็นต้น รวมทั้งสร้างแบรนด์ให้กลุ่มเกษตรกรและผลิตภัณฑ์จากเกลือทะเลเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับเกษตรกรชาวนาเกลือ

          2. การนำเสนองานวิจัย นวัตกรรม การดำเนินกิจกรรมทางเกลือทะเลไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม AIC จังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานผลการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเกษตรกรชาวนาเกลือทะเล ได้แก่ การสร้างรายได้เสริมให้กับชาวนาเกลือ การส่งเสริมการทำแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์ขี้แดดนาเกลือและแนวทางการส่งเสริมการตลาด การจัดการคนและข้อมูล การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบเกลือในภาคตะวันออก การบริหารจัดการเชื่อมโยงกับองค์กรภายนอก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้านเกษตรอินทรีย์ การใช้ประโยชน์ของขี้แดดนาเกลือ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการยกระดับการบริหารจัดการ

           3. ผลการดำเนินกิจกรรมการทำนาเกลือทะเลภายในจังหวัดจันทบุรี และการใช้ผลผลิตเกลือทะเลในการพัฒนากิจกรรมทางการเกษตร (ไม้ผล) โดย เกษตรจังหวัดจันทบุรี รายงานว่าจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่อยู่ในตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรชาวนาเกลือได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้วทั้งหมด จำนวน 9 ราย พื้นที่ 229 ไร่ ปริมาณเกลือทะเลที่ผลิตได้เฉลี่ยประมาณ 2,589 ตัน/ปี สร้างมูลค่าได้ปีละ 9.98 ล้านบาท

      ผลผลิตเกลือทะเลที่ได้นำไปใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายให้กับกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ผู้บริโภคทั่วไป ผู้แปรรูป เกษตรกรผู้ทำนากุ้ง เกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้เลี้ยงปศุสัตว์สำหรับผสมอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการโลจิสติกส์

     ตลอดจนการฝึกปฏิบัติ และตรวจประเมินความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ทางเกลือทะเล ให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือทะเล จำนวน 10 ราย ส่งผลให้มีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) เป็นรายแรกของจังหวัดจันทบุรี