“สวนสุนันทา”เปิดตัว “ศูนย์เรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี บ้านเชียง อุดรธานี” หวังต่อยอดสร้างความเข้มแข็ง-สร้างอาชีพให้ชุมชน

  •  
  •  
  •  
  •  

ม.ราชภัฏสวนสุนันทาร่วมกับร่วมมือกับชุมชนบ้านเชียง เปิดตัว “ศูนย์เรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี บ้านเชียง อุดรธานี” แหล่งวัฒนธรรมมรดกโลก สู่เครื่องปั้นดินเผายุคใหม่ หวังต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่ม Startup และ OTOP เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน สร้างอาชีพและรายได้ของคนในชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.คมสัน โสมณวัตร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตนครปฐม เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มียุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และบริการวิชาการชั้นนำ และการพัฒนางานวิจัยเพื่อต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่ม Startup และ OTOP เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน สร้างอาชีพและรายได้ของคนในชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จึงได้ร่วมมือกับชุมชนบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เปิดตัว “ศูนย์เรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี บ้านเชียง” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ถ่ายทอดเรื่องราวมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าภูมิปัญญาการปั้นหม้อเขียนสีเอกลักษณ์บ้านเชียง ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่

สำหรับกลุ่มปั้นหม้อเขียนสี เป็นกลุ่มอาชีพหนึ่งของตำบลบ้านเชียง โดยเน้นผลิตเครื่องปั้นดินเผาอย่างครบวงจรที่สืบสานวิธีการหรือกระบวนการดั้งเดิม ตั้งแต่การปั้น เผา เขียนลายเขียนสี และต่อยอดพัฒนาเครื่องปั้นดินเผานั้นให้เป็นของที่ระลึกสำหรับจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และคณะที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกันนำองค์ความรู้และงานวิจัยไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกกลุ่ม

ทั้งนี้เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีกระบวนการผลิตที่ทันสมัยโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริม การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวผลิตภัณฑ์ การหาช่องทางการจัดจำหน่าย ไปจนถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในร้านค้าปลีกของกลุ่ม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการค้าให้มีมาตรฐานสากลและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ยกระดับไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

สำหรับผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ข้อมูลด้านองค์ความรู้ต่างๆ สามารถติดตามผลงานของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ทาง www.ird.ssru.ac.th และ
www.ssru.ac.th อีกด้วย ผศ.ดร.คมสัน กล่าว

ด้านนายชาตรี ตะโจประรัง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปั้นหม้อเขียนสี บ้านเชียง กล่าวว่า กลุ่มปั้นหม้อเขียนสีบ้านเชียงมีการทำเครื่องปั้นดินเผามานานแล้ว เป็นการผลิตแบบดั้งเดิมตามภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น แต่พอทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้นำองค์ความรู้ต่างๆ มาสอนให้ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การปั้น การลงสี การเผา รวมทั้งมาสร้างเตาเผาใช้พลังงานลมทดแทน ใช้เทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิ ช่วยร่นระยะเวลาในการเผาจากเดิมที่ต้องใช้เวลาเป็นวันเหลือเพียง 5 ชั่วโมง และยังทำให้เครื่องปั้นดินเผามีความแกร่งแข็งแรง ลดอัตราการสูญเสียลงได้เกือบ 100% นอกจากนี้ ยังช่วยหาช่องทางการตลาด ทำให้คนรู้จักผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมากขึ้น

ส่วนผู้ที่สนใจอยากมาศึกษาวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชุมชนชาวบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแหล่งวัฒนธรรม หรือมาเรียนรู้วิธีการปั้นเครื่องปั้นดินเผา ติดต่อได้ที่ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด หรืออุดหนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ที่เพจเฟสบุ๊ค : ศูนย์เรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี โทร. 089-4210068