“คอนโดเห็ด” ต่อยอดทักษะอาชีพ  ให้น้องๆ เด็กพิเศษ โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล ภายใต้ CONNEXT ED  ของซีพีเอฟ     

  •  
  •  
  •  
  •  
         
 
“โครงการเพาะเห็ด เติมฝัน สร้างอาชีพ” เป็นหนึ่งในโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้บริหารโรงเรียนและคณะครู โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล จังหวัดนครราชสีมา ที่ต้องการสร้างทักษะพื้นฐานให้แก่นักเรียนสามารถนำไปใช้ หรือเป็นทางเลือกเป็นอาชีพ เพื่อพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตโดยมี ซีพีเอฟ ร่วมขับเคลื่อนโครงการ
     โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางการได้ยิน และบุคคลออทิสติก  มีแนวคิดนำโครงการเพาะเห็ด มาสร้างทักษะพื้นฐานให้เด็กๆ นอกจากเห็ดจะเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว การเพาะเห็ดมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากและไม่ซับซ้อน สามารถทำได้ตามสภาพความพร้อม จึงเป็นกิจกรรมที่มีความเป็นไปได้กับน้องๆในสถานศึกษาแห่งนี้ ประกอบกับจังหวัดนครราชสีมามีแหล่งเพาะเห็ดที่หลากหลายให้เด็กๆได้ศึกษาหาความรู้ ฝึกปฏิบัติ ทั้งในระหว่างดำเนินโครงการและหากต้องการจะนำไปต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคต ซึ่งโครงการนี้ได้รับงบประมาณจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ หนึ่งในองค์กรที่ร่วมขับเคลื่อนการทำงานของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา       CONNEXT ED
      ปัจจุบัน ซีพีเอฟ ดูแล รร. CONNEXT ED จำนวน 301 โรงเรียน ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สระบุรี ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้านหลัก คือ 1. การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส 2. กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน 4. เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ 5. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา
      น.ส.ธัญญารัตน์ เมืองอินทร์ รองผู้อำนวยการ รร.นครราชสีมาปัญญานุกูล และรับผิดชอบ “โครงการเพาะเห็ด เติมฝัน สร้างอาชีพ” เล่าว่า วัตถุประสงค์ของการทำโครงการเพาะเห็ดฯ เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะอาชีพตามศักยภาพ ซึ่งเด็กๆที่ร่วมกิจกรรม เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-6 รวม 52 คน ได้รับการถ่ายทอดความรู้และคำแนะนำจากคุณครูเกษตรที่สอนวิธีเพาะเห็ด การดูแลและคุณครูการงานอาชีพที่สอนการแปรรูปเห็ด อาทิ แหนมเห็ด เห็ดทอด เห็ดอบกรอบ เป็นต้น เพื่อเป็นการวางพื้นฐานทักษะให้เด็กๆ และเป็นกิจกรรมที่เด็กๆสามารถนำไปทำที่บ้าน ขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชนได้
     โรงเรียน ฯ เริ่มต้นโครงการเมื่อปลายปี 2564 สร้างโรงเรือนขนาดย่อมเพื่อเพาะเห็ดนางฟ้า  400 ก้อน มีคุณครูประจำหอนอนและเด็กๆที่หอนอน ช่วยกันดูแลเห็ดที่เพาะไว้ รดน้ำ เก็บดอกเห็ดเสร็จทำความสะอาดหน้าก้อนเชื้อ นำผลผลิตเห็ดที่เก็บได้ชั่งกิโลกรัม เพื่อส่งให้โรงอาหารประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ขึ้นกับรายการอาหารแต่ละสัปดาห์ อาทิ ต้มยำไก่ใส่เห็ด ผัดกะเพราหมูใส่เห็ด ต้มข่าไก่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวัน ที่สำคัญคือ ผลผลิตเห็ดที่เด็กๆ ช่วยกันดูแลเป็นวัตถุดิบต้นทางที่สะอาด ปลอดภัย ไร้สารเคมี 100%
      ปัจจุบัน แม้เด็กๆจะปิดเทอมกันแล้ว แต่โรงเรียนได้ทำคอนโดเห็ดมอบให้เด็กๆ 52 ครอบครัว กลับไปดูแลที่บ้านต่อ ครอบครัวละ 1 ชุด ประกอบด้วย 1. คอนโดเห็ด ใช้ท่อพีวีซีทำเป็นโครงทรงสี่เหลี่ยมเหมือนบ้าน ทำเป็นชั้นๆ คลุมด้วยแสลนสีดำล้อมรอบ กั้นหลังด้วยตาข่ายพลาสติก 2. ก้อนเชื้อเห็ด 27 ก้อน โดยใช้งบประมาณที่ซีพีเอฟสนับสนุนโครงการฯ มาซื้อก้อนเชื้อเห็ดจากฟาร์มเห็ดใกล้ๆโรงเรียน เพื่อทำคอนโดเห็ดมอบให้นักเรียน และยังมีครอบครัวนำร่อง 5 ครอบครัว ที่โรงเรียนใช้งบประมาณในส่วนนี้  สนับสนุนก้อนเชื้อเห็ดให้เพิ่มเติมอีก 500 ก้อน เพื่อต่อยอดสู่อาชีพ
       โรงเรียนมีการติดตามพัฒนาการของเด็กๆผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ เด็กบางคนสามารถสื่อสารทางไลน์กับคุณครูได้โดยตรงส่วนบางคนที่ไม่สามารถสื่อสารได้เอง คุณครูจะติดตามผ่านทางผู้ปกครองที่จะช่วยรายงานพัฒนาการของน้องๆ จากกิจกรรมเพาะเห็ด การคิดเมนูอาหารในแต่ละวัน และการลงมือทำอาหารทานเองในครัวเรือน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองและเด็กๆเป็นอย่างดี ด้วยการส่งภาพนิ่ง คลิปวีดีโอ มาให้คุณครู ซึ่งเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ บอกว่าเด็กๆ สามารถรับผิดชอบดูแลการเพาะเห็ดได้เอง มีความสุขกับการทำกิจกรรม  กระตือรือร้น เด็กออทิสติกมีสมาธิมากขึ้น ไม่หงุดหงิดง่าย
      ด้าน น.ส.ศิริเพ็ญ จานรัมย์  คุณครูหอและคุณครูผู้รับผิดชอบโครงการคอนเน็กซ์ อีดี  กล่าวว่า  เด็กนักเรียนที่เป็นเด็กในหอหลายคน แม้ว่าจะมีพัฒนาการช้า หรือเป็นเด็กออทิสติก แต่เมื่อได้ร่วมกิจกรรมโครงการเพาะเห็ด เติมฝัน สร้างอาชีพ” เด็กๆมีการตอบรับที่ดี เช่น น้องน็อต นักเรียนชั้น ม.1 มีปัญหาพัฒนาการช้า  แต่เมื่อคุณครูฝึกให้ปฎิบัติการแปรรูปอาหารจากเห็ด ใน “โครงการเพาะเห็ด เติมฝัน สร้างอาชีพ” น้องมีการโต้ตอบได้ดี ช่างสังเกต เข้าใจได้เร็ว เห็นทักษะในกระบวนการทำงาน  คุณครูจึงให้น้องน็อตเป็นแกนนำของนักเรียน  ช่วยฝึกน้องๆและเพื่อนๆ ทำกิจกรรมเก็บเห็ด รดน้ำเห็ด ช่วยคุณครูคิดเมนูอาหารกลางวันเช่นเดียวกับ น้องบีม  ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นบุคคลออทิสติก  แต่มีการเรียนรู้จากกิจกรรมปฏิบัติจริงในโครงการเพาะเห็ด เติมฝัน สร้างอาชีพ สามารถเป็นแกนนำพาเพื่อนไปรดน้ำ  เก็บเห็ด ทำความสะอาดก้อนเชื้อ แนะนำเพื่อนๆได้
       ผู้ปกครองน้องบีม เล่าว่า น้องบีมจะรดน้ำเห็ดทุกวัน ช่วงเช้าและเย็น เมื่อผลผลิตออก บีมจะเก็บเห็ดและชั่งกิโลใส่ถุงไว้ให้แม่  ในสัปดาห์แรกที่นำคอนโดเห็ดมาดูแลที่บ้านเก็บผลผลิตได้ 3 ขีด ผลผลิตรอบที่สองเก็บได้ 7-8 ขีด รอบที่3 เก็บได้กิโลกรัมกว่า ซึ่งแม่รับซื้อผลผลิตเห็ดจากน้องบีมไว้ท้ังหมด เพื่อใช้ทำกับข้าวขาย มีทั้ง ผัดเห็ด ต้มยำเห็ด เห็ดนึ่งจิ้มแจ่ว  คุณแม่น้องบีมบอกด้วยว่า  คุณแม่มีอาชีพทำปลาส้มขายและมีแนวคิดอยู่แล้วว่าจะเพาะเห็ดไปขายที่ตลาดด้วย เมื่อน้องบีมได้รับคอนโดเห็ดที่โรงเรียนมอบให้มาดูแลที่บ้าน จึงคิดว่าจะให้คุณพ่อทำโรงเรือนเห็ดอีกหลัง และขยายการเพาะเห็ด โดยให้น้องบีมช่วยดูแล เพื่อที่ต่อไปจะมีผลผลิตเห็ดไปขายที่ตลาดเป็นรายได้เข้าครอบครัวอีกทางหนึ่ง
      ด้าน น้องบีม เล่าว่า โครงการเพาะเห็ด สานฝัน สร้างอาชีพ ทำให้ได้เรียนรู้ขั้นตอนการเพาะเห็ด ซึ่งเค้าทำได้เองทุกขั้นตอน ตั้งแต่รดน้ำเห็ด เก็บผลผลิตเห็ด ทำความสะอาดปากขวดที่ใช้เพาะ นำผลผลิตใส่ถุงไว้ให้แม่ทำกับข้าวขาย รวมทั้งนำเห็ดมาทำเป็นเห็ดทอด ผลผลิตเห็ดที่ได้ขายให้แม่ไปทำกับข้าว ชอบ ต่อไปจะให้พ่อทำโรงเห็ด เพาะเห็ดขาย เมนูที่ชอบ ผัดเห็ด ต้มยำเห็ด ปลานึ่งจิ้มแจ่ว เห็ดทอด บีมบอกด้วยว่าในอนาคตการเพาะเห็ด สามารถทำเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัวได้
      ผู้ปกครองน้องน็อต เล่าว่า  กิจกรรมโครงการเพาะเห็ด สานฝัน สร้างอาชีพ ซึ่งทางรร. ได้ทำคอนโดเห็ดมาให้นักเรียนดูแลเองที่บ้าน ทำให้ลูกมีความรับผิดชอบ และมีวินัย สามารถดูแลเห็ดที่เพาะด้วยตัวเองได้ รดน้ำ เก็บเห็ดเอาไปทำอาหาร เช่น เห็ดชุบแป้งทอด โครงการฯนี้เป็นโครงการที่ดี เห็นพัฒนาของลูกที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีสมาธิดีขึ้น  มีเวลาอยู่ที่บ้าน จากเมื่อก่อนที่จะซนมาก ชอบออกไปเล่นนอกบ้าน แต่ตอนนี้น้องเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น กลับมาบ้านนอกจากดูแลคอนโดเห็น น้องยังช่วยคุณพ่อซ่อมแซมบ้าน เข็นทราย ยกปูน  ในอนาคตถ้าน้องคิดว่าจะเพาะเห็ดขายก็น่าจะเป็นไปได้
    นางเรวดี เกสรอินทร์ ผู้ปกครองน้องสตางค์  ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.1 เป็นเด็กออทิสติก เล่าว่า ตื่นเช้ามา หลังจากที่น้องสตางค์ทำกิจวัตรประจำวันแล้ว เค้าก็จะมาตามคุณแม่ ไปดูคอนโดเห็ดเพื่อไปรดน้ำเห็ดในตอนเช้า  สตางค์สามารถรดน้ำเห็ดได้เอง บางวันถ้าน้องอารมณ์ดีก็จะได้ยินน้องรดน้ำและร้องเพลงไปด้วย  คุณแม่เล่าว่า เริ่มต้นที่โรงเรียนมอบคอนโดเห็ดมาให้น้องดูแล ยังแบ่งเวลาไม่ถูกเพราะน้องมีภารกิจประจำวันช่วยงานซักผ้า ตากผ้า กรอกน้ำ แต่พอเริ่มลงตัวแล้ว น้องเริ่มแบ่งเวลาเองได้ เช้ารดน้ำเห็ด
      จากนั้นทำภารกิจช่วยที่บ้าน พอใกล้ถึงเวลาเย็น น้องสตางค์ ก็จะมาเตือนคุณแม่  “รด รด” ชวนไปรดน้ำเห็ดอีกครั้งในช่วงเย็น ตอนนี้ เห็ดเริ่มออกผลผลิต เป็นตุ่มๆโผล่ออกมา น้องก็จะบอกคุณแม่ “เก็บ เก็บ”หรือในการสื่อสารทางไลน์กลุ่มกับคุณครู และผู้ปกครองท่านอื่นๆ เวลามีรูปที่ผู้ปกครองส่งเข้ามา คุณแม่จะหันไปบอกน้องสตางค์ว่า “เพื่อนๆทักไลน์มาแล้ว” น้องสตางค์ก็จะบอกคุณแม่ว่า “ส่ง ส่ง ” ซึ่งหมายถึงให้คุณแม่ส่งรูปที่น้องสตางค์รดน้ำเห็ดเข้าไปในกลุ่มไลน์ด้วย
      คุณแม่น้องสตางค์ บอกว่า โครงการเพาะเห็ด สานฝัน สร้างอาชีพ เป็นโครงการที่ดี ทำให้เด็กได้เรียนรู้ในการทำอาชีพ เห็นความรับผิดชอบและความกระตือรือร้น เชื่อว่าในอนาคตหากเราปูพื้นฐานให้น้องมีโอกาสได้เรียนรู้และทำเองในทุกขั้นตอน น้องจะพึ่งพาตนเองได้
       รร.นครราชสีมาปัญญานุกูล เป็น 1 ใน 301 โรงเรียน ในความดูแลของซีพีเอฟ ที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยอย่างยั่งยืน สร้างเด็กดีและเด็กเก่ง  ผ่านการทำงานร่วมกันของผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ของบริษัท ร่วมวางแผนการศึกษาร่วมกับผู้บริหารและคณะครู   จากจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมโครงการ ฯ  ซึ่งโรงเรียนได้รับการสนับสนุน การทำโครงการ”ผัดหมี่โคราชสร้างเถ้าแก่น้อย” ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดนครราชสีมา สร้างโอกาสในการมีงานทำให้แก่น้องๆเด็กพิเศษ โดยได้บรรจุอาชีพผัดหมี่โคราช เป็นหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี จากนั้นพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ผัดหมี่สำเร็จรูป
      ล่าสุด ในปี 2564 ซีพีเอฟ สนับสนุนโครงการเพาะเห็ด สานฝัน สร้างอาชีพ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการเพาะเห็ด การแปรรูปเห็ด นำความรู้ปรับประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต และเติมฝัน สร้างอาชีพให้แก่นักเรียนได้จริง เป็นความภาคภูมิใจของเด็กๆ ที่จะสามารถพึ่งพิงตนเองได้ในอนาคต