“ร้านกาแฟเด็กน้อย” ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ สานฝัน ซีพีเอฟ ปั้นนักธุรกิจน้อย  CONNEXT  ED ณ โรงเรียนบ้านห้วยหัน       

  •  
  •  
  •  
  •  
    ต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านปกคลุมให่ร่มรื่นทั่วอาณาบริเวณ ที่ตั้งของ “ร้านกาเด็กน้อย” ซึ่งเป็นร้านกาแฟขนาดย่อม ทำให้บรรดาลูกค้าได้นั่งพักผ่อนรอรับการบริการกาแฟจากเด็ดเสริร์ฟตัวน้อย ที่เป็นนักเรียน “โรงเรียนบ้านห้วยหัน” ตำบลวังชมภู อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
    เด็กเหล่านี้ผ่านการฝึกอบรมใน “โครงการร้านกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน” ฝึกอาชีพการทำกาแฟ  เครื่องดื่ม  น้ำผลไม้    โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ของโรงเรียนแห่งนี้  ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิสานอนาคตการศึกษาไทย CONNEXT ED ที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย สร้างเด็กดีและเด็กเก่ง
 
      “ร้านกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน” ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนบ้านห้วยหัน-ไทรงาม จากการที่โรงเรียนได้รับเลือกให้เข้าโครงการหมู่บ้าน D-HOPE โดยหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของจังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนเป็นจุดรับนักท่องเที่ยว
       ด้วยทำเลที่ตั้งของโรงเรียนใกล้ชิดเส้นทางธรรมชาติ  มีน้ำตกแก่งดาดาด ผ่านด้านหลังโรงเรียน   ในพื้นที่บริเวณโรงเรียนมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนรอยเท้าไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมากกว่า 210 ล้านปี  การวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชาวบ้าน ของดีประจำชุมชน เช่น ผ้าขาวม้าทอมือ หลามปลาแม่น้ำชี ฯลฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนที่นี่   จะได้รับการต้อนรับจากยุวมัคคุเทศก์น้อยพาเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ  สัมผัสธรรมชาติที่สวยงาม และยังได้อุดหนุนร้านกาแฟของเด็กๆ อีกด้วย ที่สำคัญ คือ  ร้านกาแฟที่นี่ ใช้กระบอกไม้ไผ่ที่ซื้อจากชาวบ้านเป็นภาชนะ  ถือเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
     โรงเรียนบ้านห้วยหัน  เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1  ถึงมัธยมศึกษาปีที่  3  ตั้งอยู่ในชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรและรับจ้างทั่วไป  ซึ่งโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะด้านการประกอบอาชีพ ทักษะในการค้าขาย ด้วยการนำนักเรียนเข้าอบรมการทำกาแฟและน้ำผลไม้  เพื่อให้นักเรียนนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ สร้างรายได้ให้แก่ตัวเอง โรงเรียน และชุมชน   นักเรียนได้ใช้เวลาว่างเกิดประโยชน์ นอกจากนักเรียนเรียนรู้วิธีทำกาแฟแล้ว  ได้เรียนรู้การบันทึกรายรับ-รายจ่าย คำนวณผลกำไรและขาดทุนที่เกิดจากการดำเนินโครงการ สู่การเป็นนักธุรกิจน้อยและประกอบอาชีพที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
   น.ส.วาสิตา  นุยจันทึก  ครูที่ปรึกษาโครงการ ร้านกาแฟเด็กน้อย กล่าวว่า กิจกรรม “ร้านกาแฟเด็กน้อย” เน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะอาชีพจากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งปัจจุบัน การเปิดร้านกาแฟกำลังได้รับความนิยม และมีผู้ที่ชื่นชอบดื่มกาแฟจำนวนมาก  มีการปลูกเมล็ดกาแฟพันธุ์ดีในประเทศ และในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ “สัมผัสรสชาติเมล็ดกาแฟเข้มข้น Arabica ผสมผสานกับ Robusta ที่มีกลิ่นหอมชวนดื่ม” เมื่อนำมาใส่ในแก้วไม้ไผ่ ก็ยิ่งทำให้มีรสชาติกลมกล่อมลงตัว ไม่เหมือนใคร ส่งเสริมทักษะการมีอาชีพให้กับนักเรียน
     สิ่งสำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างการศึกษาอย่างยั่งยืนให้แก่นักเรียน โดยใช้เวลาในช่วงพักกลางวัน และหลังเลิกเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ มีความสามัคคี ร่วมมือทำงานเป็นทีม เมื่อลูกค้าซื้อเครื่องดื่มที่ใส่แก้วกระบอกไม้ไผ่จากทางร้าน   ถ่ายรูปเช็คอินลงเพจ “กาแฟเด็กน้อย By Huayhun School” จะได้รับส่วนลดทันทีแก้วละ 5 บาท มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โปรโมชั่นที่ดึงดูดลูกค้า เพิ่มทักษะในการวางกลยุทธ์การขายสินค้า ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ฝึกการคำนวณงบประมาณต้นทุน-กำไร
      รายได้จากการขาย ฝึกให้นักเรียนมีจิตใจในการให้บริการ(Service mind) ยิ้มแย้มแจ่มใสมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และกิจกรรมการเขียนเพ้นท์แก้วบนกระบอกไม่ไผ่เอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการใช้แก้วไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติโดยมีปลูกไว้ในชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับชาวบ้าน ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และช่วยลดขยะพลาสติกรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
     ด้านด.ญ. จิวาพร  สิงห์ทอง หรือ น้องกิ่ง  นักเรียนชั้น ม.1   ซึ่งเข้าร่วมโครงการร้านกาแฟน้อย สู่อาชีพยั่งยืน กล่าวว่า  นักเรียนที่ให้บริการในร้านกาแฟน้อย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้น ม. 1 แบ่งหน้าที่กัน เปิดร้าน จัดร้าน บดกาแฟ  ชงกาแฟ   ดูแลลูกค้า รับออเดอร์   กิจกรรมต่างๆที่เราได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้มีประสบการณ์การทำงานเป็นทีม มีความสามัคคี  มีใจในการให้บริการ ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้องๆ   ได้เรียนรู้การคำนวณต้นทุน-กำไรจากการขาย รู้สึกภูมิใจเมื่อได้รับคำชมจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ  ขอขอบคุณมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาไทย  CONNEXT  ED ที่มอบโอกาสดีๆให้กับพวกเรา
     ส่วน ด.ญ. สุธิดา  น้อยปัญญา   หรือ  น้องเมย  นักเรียนชั้น ม.1  เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการฯและได้ฝึกอบรมการทำกาแฟ กล่าวว่า ได้ประสบการณ์หลายอย่าง  สามารถนำความรู้จากการฝึกทำกาแฟ และการชงเครื่องดื่มต่างๆ ไปประกอบอาชีพในอนาคต   สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวในระหว่างเรียน   รายได้ที่ได้รับนำไปฝากบัญชีออมทรัพย์ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง  มีความรับผิดชอบในการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ รู้จักอดทนต่อการทำงาน
   ขณะที่นายหารศึก ภาระหันต์ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ  รร. บ้านห้วยหัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 กล่าวว่า เรามองว่าการศึกษา คือ  การลงทุน ทำให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน จะต้องลงทุนในการพัฒนาพฤติกรรมที่แสดงถึง ความขยัน การประหยัด ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสุภาพ ความสะอาด ความสามัคคี ความมีน้ำใจ  แต่สิ่งที่ไม่ต้องลงทุน  คือ  ทุนในการเปิดร้านกาแฟเด็กน้อย ซึ่งซีพีเอฟเป็นผู้ลงทุนให้
    ทั้งนี้โรงเรียนคาดหวังว่าโครงการกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน จะเป็นธุรกิจเล็กๆ ในโรงเรียนที่จะส่งเสริมให้นักเรียนมีทางเลือก และมีเป้าหมายหลังจากที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้แล้ว สามารถนำประสบการณ์ไปต่อยอด หรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือหากไม่ได้ศีกษาต่อก็สามารถนำไปประกอบอาชีพ เป็นรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว  ต้องขอขอบคุณ  ซีพีเอฟและSchool Partner (SP) ของซีพีเอฟ   ช่วยประสานงาน  ให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษา ทำงานร่วมกัน
“นอกจากโครงการฯ จะเป็นการปูทางอาชีพให้กับเด็กๆ สามารถนำไปใช้ในอนาคตแล้ว   โรงเรียนมีการสั่งภาชนะไม้ไผ่จากชาวบ้าน เป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่   ซึ่งเท่าที่ประเมินความต้องการใช้ภาชนะไม้ไผ่ คาดว่าจะต้องใช้ประมาณ 200 กระบอกต่อเดือน เป็นการช่วยอุดหนุนและสร้างรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่ได้ด้วย ”  นายหารศึก กล่าว
     “โครงการร้านกาแฟเด็กน้อย สู่อาชีพยั่งยืน”  เป็นโครงการสร้างอาชีพที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุนโรงเรียนบ้านห้วยหัน ภายใต้การขับเคลื่อนการทำงานของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED)  ซึ่งมีทั้งโครงการที่ส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน ด้านวิชาการ ด้านอาชีพ  การทำเกษตรอินทรีย์รักษ์สิ่งแวดล้อม  โครงการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
     ปัจจุบัน มีโรงเรียนภายใต้การดูแลของซีพีเอฟ  301 โรงเรียน ในพื้นที่  4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสระบุรี   ผ่านการดำเนินงานของ School Partner ของซีพีเอฟ 65  คน   ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์    5 ด้านหลัก คือ  1. การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส, 2.กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม,3. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน, 4. เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ 5. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา
     ด้วยความเชื่อมั่นว่า การศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน สามารถสร้างและพัฒนาความรู้ ความสามารถ นวัตกรรม ความคิด ตลอดจนพฤติกรรมของเด็กไทยให้เป็นทั้ง “เด็กดีและเด็กเก่ง”