“กิมจิต้นหอมยางชุมน้อย” ผลิตภัณฑ์ใหม่จากศรีสะเกษ เริ่มต้นแค่ 4 กก.ขายในพื้นที่ สู่ตลาดเมืองกรุง

  •  
  •  
  •  
  •  

พลิกวิกฤติโควิด-น้ำท่วม-ฝนแล้งมาเป็นโอกาส สภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษผนึกกำลังภาครัฐ และเชพคนดัง “สิรพงศ์ สังข์แก้ว” หรือเชฟเต๋า รวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจีไอในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อย นำผลผลิตล้นตลาด มาแปรรูปเป็น “กิมจิ” ดองเพียง 2 วันกินได้แล้ว เริ่มจากแค่ 4 กก. มาสู่หลักสิบ และหลักร้อยกิโลกรัม ขายกล่องละ 35-59 บาท ภายใต้แบรนด์ “กิมจิต้นหอมยางชุมน้อย” ล่าสุดยอดสั่งพุ่งทั้งในพื้นที่และกรุงเทพฯ

      นายวิศณ์  ประสานพันธ์ หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร สภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาภาคการเกษตรเผชิญกับสถานการณ์ที่หลากหลายมากตั้งแต่การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ที่ขยายลุกลามไปทั่ว ภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม  กระทบผลผลิต  สินค้าล้นตลาดและขาดรายได้ การดำเนินชีวิตติดขัดยากลำบากแตกต่างกันไป

     สภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษได้รับปัญหาต่างๆจากเกษตรกรและเข้าช่วยเหลือ แก้ปัญหา รวมทั้งหาช่องทางทำการตลาดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ยกตัวอย่าง อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงอำเภอยางชุมน้อย พื้นที่ปลูกหอมแดงกว่า 250 ไร่ ถูกน้ำจากลำน้ำมูลเอ่อเข้าท่วมเสียหายทั้งหมด ขณะที่การสำรวจแปลงหอมแดงในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อย พบพื้นที่เสียหายมากกว่า 2,000 ไร่ เกษตรกรขอความช่วยเหลือมา

     ดังนั้นทางสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ จึงเชิญจังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ พาณิชย์จังหวัด ร่วมปรึกษา รวมทั้ง นายสิรพงศ์ สังข์แก้ว หรือเชฟเต๋า วิทยากรชำนาญการ สาขาการประกอบอาหาร ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ ว่าน่าจะแปรรูปเป็นกิมจิได้หรือไม่ จึงได้ทดลองทำกิมจิรอบแรก 4 กิโลกรัม ถือว่าผ่าน รอบที่ 2 ในงานช่วยเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงพื้นที่โดนน้ำท่วม โดยเชิญแกนนำกลุ่มเกษตรกร มาเรียนรู้การทำกิมจิแล้วปรับรสชาติ เพิ่มเป็น 40 กิโลกรัม ขายดีขึ้น รอบที่ 3 ทำจำหน่ายในงานตักบาตรของจังหวัด 140 กิโลกรัม ภายใต้แบรนด์ “กิมจิต้นหอมยางชุมน้อย” ปรากฏว่าจำหน่ายหมด    

      นายวิศณ์ กล่าวอีกว่า หอมแดงศรีสะเกษ ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยเทคนิคการเพาะปลูกของคนในท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมายาวนาน จึงทำให้หอมแดงศรีสะเกษมีกลิ่นและรสชาติที่โดดเด่นแตกต่างจากแหล่งปลูกพื้นที่อื่น กล่าวคือหอมแดงศรีสะเกษ มีเปลือกแห้งมัน สีแดงเข้มปนม่วง หัวมีลักษณะกลม มีกลิ่นฉุน ที่เกิดจากดินมูลทรายที่เป็นดินตะกอนลุ่มน้ำโบราณลำน้ำมูล และลำน้ำสาขามูลที่ทับถมมานาน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์สูง ประกอบกับเมื่อผสมกับดินโพนหรือดินจอมปลวกจึงทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ กลิ่นหอม อร่อยและเป็นเอกลักษณ์

     ทั้งนี้ หอมแดงศรีสะเกษที่นำมาทำกิมจิควรมีอายุ ประมาณ 30-45 วัน เกินกว่านี้จำหน่ายเป็นแบบแห้ง “กิมจิต้นหอมยางชุมน้อย” ใช้เวลาหมัก 2 วัน จำหน่ายหน้างานได้เลย หากเป็นการสั่งซื้อแบบออนไลน์หมัก 1 วันแล้วส่งวันรุ่งขึ้นถึงมือผู้บริโภครสชาติจะพอดีอร่อย 

     ส่วนตลาดของกิมจิต้นหอมยางชุมน้อย ตอนนี้รับคำสั่งซื้อในจังหวัดและส่วนหนึ่งจำหน่ายผ่านออนไลน์ไปกรุงเทพ ปริมาณกล่องละ 200 กรัม ราคา 35 บาท 3 กล่อง 100 บาท และ 300 กรัม ราคา 59 บาท 2 กล่อง 100 บาท ไม่รวมค่าส่ง  ซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษกำลังคิดต่อยอดร่วมกับภาคส่วนพันธมิตรเพราะถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของจังหวัด

      อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หอมแดงศรีสะเกษก็มีปัญหาล้นตลาด ส่งจำหน่ายไม่ได้ด้วยติดสถานการณ์โควิด-19 จึงจะสร้างมาตรฐานและเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้จำหน่ายหอมแดงเป็นกล่องที่เพิ่มมูลค่าต่อยอดจากการจำหน่ายเป็นกิโลกรัมหรือเป็นตัน หากสนใจผลิตภัณฑ์ ‘กิมจิต้นหอมยางชุมน้อย’ สามารถสอบถามหรือสั่งซื้อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 08-8714-9714