กรมส่งเสริมสหกรณ์สุดปลื้ม คว้า 5 รางวัลสุดยอดผลงานเด่น ประจำปี 2564 เป็นรางวัลเลิศรัฐของสำนักงาน ก.พ.ร.จากที่เสนอขอรับรางวัลทั้งหมด 18 ผลงาน เผยรางวัลที่ได้เป็นประเภทรางวัลเลิศรัฐดีเด่น 2 รางวัล “พัฒนาการบริการ- ร่วมใจแก้จน” และระดับดี อีกจำนวน 3 รางวัล
จากผลการประเมินรางวัลเลิศรัฐฯ สาขาบริการภาครัฐและสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือสำนักงาน ก.พ.ร. จัดขึ้น มีหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผลงานเข้าประกวด ในแต่ละสาขาหลายร้อยผลงาน และทางสำนักงาน กพร.ได้ประกาศผลรางวัลในระดับดีเด่นรางวัลระดับดี ในช่วง ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับรางวัลผ่านระบบออนไลน์จากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้นคว้ารางวัลเลิศรัฐทั้งสาขาบริการภาครัฐและสาขาการบริหารราชการแบบ มีส่วนร่วม ทั้งหมด 5 ผลงาน ประกอบด้วยรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ระดับดีเด่น ได้แก่ “ โครงการสร้างรายได้ ขายผลผลิต พิชิตหนี้สมาชิกสหกรณ์ ” ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำปาง
รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น ได้แก่ “โครงการวิถีแก้จนของคนสหกรณ์บ้านหนองบัว ” ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุโขทัย รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดี จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ “ โครงการส่งเสริมเลี้ยงสุกรครบวงจร แก้หนี้แก้จน ” ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ
“ โครงการส้มแขก พืชอัตลักษณ์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน สหกรณ์การเกษตรสะบ้าย้อย จำกัด ” ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสงขลา และ“ โครงการร่วมใจแก้จน ชุมชนชาติพันธุ์ สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ จำกัด ” ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตาก
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสหกรณ์และสถาบันเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์มีภารกิจหน้าที่หลักในการส่งเสริม กำกับ สนับสนุนและพัฒนาสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของสมาชิกได้ ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่มของสมาชิก มีหน่วยงานในสังกัดส่วนกลาง 18 หน่วยงาน และส่วนภูมิภาค คือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอีก 76 จังหวัด เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาคราชการและเอกชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร.เป็นหน่วยงานกลางมีภารกิจมุ่งเน้นที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการของหน่วยงานภาครัฐและได้มีการจัดประกวดรางวัลเลิศรัฐขึ้นเป็นประจำทุกปีใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ สาขาบริการภาครัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติงานให้เกิดผลสำเร็จ พัฒนาการให้บริการของหน่วยงาน การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การค้นพบแนวปฏิบัติ หรือต้นแบบที่ดีเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
จากแนวนโยบายของกรมฯในการสนับสนุนและพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง เป็นที่พึ่งของมวลสมาชิกทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงได้มุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการของหน่วยงาน การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงาน ก.พ.ร ที่มุ่งเน้นที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการของหน่วยงานภาครัฐ และได้มีการจัดประกวดรางวัลเลิศรัฐขึ้น เพื่อประเมินผลงานที่โดดเด่น จากหน่วยงานต่าง ๆ ยกมาเป็นตัวอย่างและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน
“กรมฯ มองเห็นว่าภารกิจงานที่กรม ได้ปฏิบัตินั้น เป็นไปตามแนวทางหลักเกณฑ์การสมัครขอเข้ารับรางวัลเลิศรัฐของสำนักงาน ก.พ.ร. จึงมีนโยบายให้ หน่วยงานในสังกัด ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคส่งผลงานเข้ารับการประกวดรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 อย่างน้อยหน่วยงานละ 1 เรื่อง พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน ผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนากระบวนการทำงานและยกระดับการบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นส่งเข้าประกวดเพื่อรับรางวัลเลิศรัฐกับสำนักงาน ก.พ.ร” นายวิศิษฐ์ กล่าว
สำหรับปี 2564 กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งผลงานเสนอขอรับรางวัลจากสำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน ทั้งสิ้น 18 ผลงานแบ่งเป็นสาขาบริการภาครัฐ 11 ผลงานและสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภท ร่วมใจแก้จน 7 ผลงาน และได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลระดับดีเด่น 2 ผลงานและระดับดี 3 ผลงาน โดยทุกผลงานถือเป็นต้นแบบที่ดี (Best Practice) ที่จะนำไปสู่การขยายผลต่อไป
ส่วนความสำเร็จของโครงการร่วมใจแก้จนชุมชนชาติพันธุ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระนั้น สำเร็จได้ เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกสหกรณ์ คณะกรรมการและฝ่ายจัดการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ผู้นำชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ ถือเป็นการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบและถูกยกให้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐ (คทช.)อีกด้วย
“ตรงนี้มีชุมชนชาติพันธุ์หลากหลาย มีหลายชนเผ่าอยู่ร่วมกัน ทั้งจีนฮ่อ ม้ง ลีซอ กะเหรี่ยง เขาเหล่านี้มีวิถีชีวิต แบบดั้งเดิมคือปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำไร่เลื่อนลอย บุกรุกป่าไปเรื่อย ใช้สารเคมีค่อนข้างมาก บางส่วนก็มีเรื่องยาเสพติด ทำอาชีพที่ผิดกฎหมายตัดไม้ทำลายป่า” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวและยอมรับว่า ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดโอกาส และขาดการส่งเสริมดูแล การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อย่างถูกวิธี ขาดการวางแผนการผลิตที่ดีถูกต้องเหมาะสม ทำให้เขายังดำเนินชีวิตแบบเดิม ๆ ที่เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมี
สุดท้ายรายได้ก็ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สุขภาพก็ไม่ดีและสภาพแวดล้อมก็แย่ไปด้วย แต่หลังจากมีเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งสถาบันพัฒนาพื้นที่สูง เกษตรอำเภอ หน่วยงานในท้องถิ่น ได้รวมกันเข้าไปส่งเสริมดูแล และใช้รูปแบบของโครงการหลวงเข้าไปส่งเสริมในพื้นที่ ให้ความรู้ ให้งบประมาณสนับสนุน ให้เขาเริ่มปลูก พืชเมืองหนาว ไม้เศรษฐกิจ และเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรที่ถูกวิธี มีการวางแผนการผลิตร่วมกัน และจัดหาตลาดมารองรับ ทำให้วันนี้ชีวิตของพวกเขา มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ปีหน้าจะได้วางแผนเรื่องวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งมากขึ้น เราจะเข้าไป มีส่วนร่วมกับสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการประกอบอาชีพของพี่น้องเกษตรกร ที่วันนี้เกษตรกร เกือบทุกครัวเรือนหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจนของพี่น้องเกษตรกร วิธีแก้ปัญหาหนี้เริ่มจากการวางแผนลดปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้วหันมาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชเศรษฐกิจ สัตว์เศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเกษตรกรทุกคนต้องทำบัญชีครัวเรือน
พร้อมกันนั้นยังได้ยกตัวอย่างโครงการวิถีแก้จนของคนสหกรณ์บ้านหนองบัว ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุโขทัย ส่งเข้าประกวด จนสามารถคว้ารางวัลผลงานระดับดีเด่นมาครองได้สำเร็จว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เป็นการร่วมมือของภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับการตลาดอย่างชัดเจน และจะนำแบบอย่างของโครงการดังกล่าวไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป
“อย่างที่สหกรณ์หนองบัวสุโขทัย มีภาคเอกชน เช่น โมเดิร์นเทรดต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ส่งเจ้าหน้าที่ของเขาเข้าไปส่งเสริมวางแผนการผลิตพืชและสัตว์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแล้ว ก็ทำการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ยกระดับสินค้าขึ้นมาอีกขั้น ผลงานที่ได้รับรางวัลของปีนี้ใช้เป็นต้นแบบเพื่อจะนำไปขยายผลต่อในปีหน้าด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวย้ำตอนท้าย
รางวัลเลิศรัฐนับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและความภาคภูมิใจของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้พัฒนาสหกรณ์ต้นแบบ ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม ทำให้สมาชิกสหกรณ์ มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้เพียงพอกับรายจ่าย จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างของการแก้จนได้อย่างแท้จริง