เกษตรกรปลื้ม !! ร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพฯได้เต็มๆ 2 เด้ง “มีที่ทำกิน-รัฐช่วยเหลือ”

  •  
  •  
  •  
  •  


เกษตรกรที่ร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินฯสุดปลื้ม ได้เหนาะๆ  2 เด้ง “มีที่ทำกิน-ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ”  เตรียมเดินหน้าก๊อกสอง ให้รวมกลุ่มตั้งเป็นสหกรณ์ เน้นการผลิต-การตลาดในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หวังก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างเต็มที่

      นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สศก. ได้ดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ภายใต้การใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้มีความกินดี อยู่ดี มีสันติสุข และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน

จากการลงพื้นที่เพื่อประเมินผลโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. จ.สระแก้ว ที่ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้ผู้ยากไร้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา พบว่า มีเนื้อที่ประมาณ 1,960 ไร่ เป้าหมายในการจัดเกษตรกรเข้าใช้ประโยชน์ 313 ราย

     ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่แล้ว 156 ราย โดยเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์รายละ 6 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยรายละ 1 ไร่ และเป็นที่ทำกินรายละ 5 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุกรายเป็นสมาชิกสหกรณ์ทางการเกษตรที่ได้จัดตั้งขึ้นในพื้นที่

นอกจากนี้ เกษตรกรได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างบ้าน มูลค่ารายละ 40,000 บาท ขณะนี้เกษตรกรมีการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ที่ได้รับ เช่น ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน รวมทั้งเลี้ยงสัตว์ (โคเนื้อ) ในพื้นที่บริเวณบ้าน ส่วนที่ทำกิน 5 ไร่ ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเพาะปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก ควบคู่กับการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารสัตว์ ทั้งนี้มีเกษตรกรบางรายเพาะปลูกข้าวเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนด้วย

      ด้านผลสำรวจรายได้ ปีเพาะปลูก 2563/64 พบว่า เกษตรกรที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเฉลี่ย 2,968 บาทต่อไร่ สำหรับการเพาะปลูกข้าวและหญ้าเลี้ยงสัตว์นั้น เกษตรกรไม่ได้มีการจำหน่าย แต่นำข้าวมาบริโภคในครัวเรือน และนำผลผลิตจากหญ้าเลี้ยงสัตว์ใช้เป็นอาหารสำหรับโคเนื้อ ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลงได้เฉลี่ย 4,657 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้รวม 2.015 ล้านบาทต่อปี

     “ภาพรวมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพึงพอใจการดำเนินโครงการเป็นอย่างมาก เกษตรกรสามารถทำการเกษตรเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รู้สึกถึงความมั่นคงในที่ดิน เนื่องจากเป็นการให้สิทธิ์ในการเข้าใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐได้เท่าเทียมกับพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตามในระยะถัดไป นอกเหนือจากการจัดที่ดินและส่งเสริมพัฒนาอาชีพทางการเกษตรในพื้นที่แล้วควรส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานของการรวมกลุ่มสหกรณ์เพื่อการผลิตและการตลาดในพื้นที่อย่างต่อเนื่องซึ่งจะก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างเต็มที่” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว