ชี้ชัด “เกษตรทฤษฎีใหม่” ช่วยให้พึ่งพาตนเองได้ในยุค COVID-19

  •  
  •  
  •  
  •  

สศก.ชู 240 เกษตรกรตัวอย่างใน 14 จังหวัด ที่ร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ของกระทรวงเกษตรฯสามารถตักตวงความรู้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และอื่นๆ  ทำให้สามารถมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6,623 บาท ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนปีละ 30,416 บาท/ครัวเรือน ชี้ให้เห็นชัดเจนวิกฤตโควิด-19 ยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติโดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก

      นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามประเมินผลโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรน้อมนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ มาปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรในพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยเน้นการจัดสรรพื้นที่ สำหรับใช้ในการเพาะปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก จัดสรรทรัพยากรน้ำในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนผลผลิตที่เหลือนำไปจำหน่าย ซึ่งโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปีละ 70,000 ราย ในพื้นที่ 882 อำเภอ รวม 77 จังหวัด ทั้งนี้ ตั้งแต่ ปี 2560 ถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 210,206 ราย

                                                        อัญชนา ตราโช  

   จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยสำรวจข้อมูลจากเกษตรกรที่ร่วมโครงการมาตั้งแต่ ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน จำนวนเกษตรกรตัวอย่าง 240 ราย ครอบคลุม 4 ภาค รวม 14 จังหวัด พบว่า หลังจากที่เกษตรกรได้รับองค์ความรู้ ในด้านต่าง ๆ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ การจัดการน้ำ จัดการฟาร์ม การทำบัญชีครัวเรือน และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งพันธุ์พืช ปศุสัตว์ และประมง จากหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีการผลิตที่เกื้อกูลกันในแต่ละกิจกรรมภายในฟาร์มของตนเอง เกิดรายได้หมุนเวียน ตลอดทั้งปี สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6,623 บาท/ครัวเรือน จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัว ไข่ไก่ ไก่พื้นเมือง และปลา

    ที่สำคัญสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เฉลี่ยปีละ 30,416 บาท/ครัวเรือน แบ่งเป็น ลดรายจ่ายจากการบริโภคผลผลิตของตนเองปีละ 28,416 บาท/ครัวเรือน และลดรายจ่ายจากการใช้ปัจจัยการผลิต ที่ผลิตด้วยตนเองเกือบปีละ 2,000 บาท/ครัวเรือน อาทิ ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์ พันธุ์สัตว์ เกษตรกรมีเงินเก็บออมเฉลี่ยปีละ 12,277 บาท/ครัวเรือน ขณะที่หนี้สินลดลงเฉลี่ยปีละ 28,846 บาท/ครัวเรือน

    ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรมากนัก เกษตรกรยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก แม้ไม่มีรายได้ แต่ยังคงมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน อีกทั้งยัง ให้มีแรงงานคืนถิ่นกลับเข้าสู่ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย

    “จากการประเมินโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรถึงร้อยละ 95 ได้เห็นความสำคัญและผลสำเร็จที่ตามมา จึงได้ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรยังได้นำความรู้ที่ได้รับ ไปเผยแพร่ให้เกษตรกรรายอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งยังมีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางการเกษตร และร่วมกันผลิตปัจจัย เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพอีกด้วย” นางอัญชนา กล่าว

     อย่างไรก็ตาม การประเมินที่ผ่านมา ก็ยังพบว่า เกษตรกรยังคงประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำทางการเกษตร รวมถึงการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เร่งส่งเสริม ด้านแหล่งน้ำ จัดอบรมให้ความรู้ ทั้งการป้องกันกำจัดศัตรูพืช การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้พลังงานทดแทน การสร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพ และการรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายผลผลิต เป็นต้น” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว