โครงการ One Stop Service พร้อมให้บริการตรวจสอบ N P K – pH ในดินแบบรวดเร็วแล้วทั่วไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง

โครงการ One Stop Service สู้โควิด-19 ไปได้สวย คืบหน้าไปแล้วกว่า 80 % มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน รเข้าร่วมโครงการแล้ว 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตารมีความพร้อมเปิดให้บริการแก่สมาชิก ศดปช. กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไปแล้วในหลายพื้นที่

      นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ซึ่งเป็นโครงการที่แก้ไข ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ปัจจุบันมีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จำนวนทั้งสิ้น 882 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด และสมัครเข้าร่วมโครงการ 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด โดยความคืบหน้าของโครงการในภาพรวมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 แบ่งเป็นการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ คือ ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน ดำเนินการแล้วเสร็จ 281 ศูนย์ ใน 54 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 86 ส่งมอบแม่ปุ๋ยทั้ง 3 สูตร (N P และ K) ดำเนินการแล้วเสร็จ 284 ศูนย์ ใน 51 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 81 และส่งมอบเครื่องผสมปุ๋ย ดำเนินการแล้วเสร็จ 257 ศูนย์ ใน 47 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 75

     ในส่วนของการสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาเทคนิคและการบริหารธุรกิจ และการจัดเวทีเชื่อมโยงศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ ให้แก่เกษตรกรที่สนใจ ทั้งนี้มี ศดปช. ที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมเปิดให้บริการในเชิงธุรกิจในหลายพื้นที่แล้ว คือการให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินแล้ว จำนวน 220 ศูนย์ ใน 23 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 72 การให้บริการจำหน่ายแม่ปุ๋ย จำนวน 333 ศูนย์ ใน 40 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 63 และการให้บริการเครื่องผสมปุ๋ย จำนวน 351 ศูนย์ ใน 45 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 71 ซึ่ง

      นอกจาก ศดปช. ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) แล้ว ศดปช. ที่เหลืออีกจำนวน 488 ศูนย์ ยังมีความพร้อมในการให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบ N P K และ pH ในดินแบบรวดเร็ว รวมทั้งให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้นให้แก่สมาชิก ศดปช. กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไปด้วย สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหรืออำเภอ ใกล้บ้านท่าน

      ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ร่วมวางแผนกับสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ในการพัฒนาธุรกิจนี้เพื่อเกิดความยั่งยืน และอยู่ได้อย่างเข็มแข็ง รวมทั้งให้มีการถอดบทเรียน ศดปช. ที่ประสบความสำเร็จออกมาเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับศูนย์อื่นๆได้นำไปเป็นต้นแบบ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกัน