“เฉลิมชัย” มอบหมาย สศก.เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำต้นแบบจังหวัดศรีสะเกษ เป็นโมเดลขยายผลทั่วประเทศ สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ร่วมสร้างอาชีพเกษตร ช่วยผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ก้าวสู่ Smart Farmer ยุคดิจิทัล ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป้าหมายพัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ 4,009 ตำบล รวมพื้นที่ 192,432 ไร่
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนมหามงคลของปวงชนชาวไทย ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2563 ทาง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้ สศก. นำโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขับเคลื่อนโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจการเกษตรอาสาประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ทาง สศก.ได้อบรมและสาธิตการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการสินค้าเกษตรผลผลิตทางการเกษตร ผ่านเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) พร้อมบูรณาการขับเคลื่อนผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์ปฏิบัติการอื่นๆ กลุ่มองค์กรภาคประชาชน ในการช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่นให้สามารถทำการเกษตรเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
ขณะนี้ได้มีพิธีเปิดโครงการดังกล่าว ณ ศพก. อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่ง สศก. ได้นำต้นแบบของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นโมเดลในการขยายผลโครงการฯ ไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 – 12 ได้จัดอบรมไปแล้วมากกว่า 300 ราย และจะดำเนินการอบรมไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 เป้าหมายกว่า 1,000 ราย และจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เห็นชอบโครงการระยะที่ 1 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 กรอบวงเงิน 92,400 ล้านบาท สศก. เตรียมบูรณาการและเชื่อมโยงขยายผลร่วมกับโครงการต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ ภายใต้โครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่”
โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ 4,009 ตำบล จำนวน 64,144 ราย รวมพื้นที่ 192,432 ไร่ และโครงการ “พัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service)” ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการในศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน 394 ศูนย์/อำเภอ ใน 63 จังหวัด ตลอดจนมีแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวง อาทิ โครงการสร้างงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตลอดจนแรงงานจังหวัด พัฒนาชุมชนจังหวัด การศึกษานอกระบบ (กศน.) หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีโครงการในลักษณะเดียวกันมาใช้ ศพก. และ ศกอ. เป็นกลไกในการขับเคลื่อน
“เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเต็มที่ สศก. ได้จัดทำคู่มือการฝึกอบรมให้เป็นมาตรฐาน เพื่อติดตามประเมินผล จากการถอดบทเรียนของศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน ศกอ. ที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย 9 ฐานเรียนรู้ที่เข้มข้น และยังมุ่งเน้นองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้ก้าวทันยุคดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชั่น ฟาร์ม D และแอปพลิเคชั่นกระดานเศรษฐี (RCMO) รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก BIG Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) โดยผู้เข้าอบรมจะต้องทำความเข้าใจพร้อมถอดรหัสบทเรียนที่ได้ ไปออกแบบแปลงให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ตนเองและประยุกต์ใช้ได้จริง” เลขาธิการ สศก. กล่าว