มก.เดินหน้าปั้นบัณฑิตสู่ผู้ประกอบการ ผลิตหลักสูตรใหม่ “Non-Degree”เพิ่ม-ฝึกอบรมนับร้อยหลักสูตรในภาคฤดูร้อนนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินหน้าจัดทำโครงการพัฒนาสมรรถนะบัณฑิต ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่ผู้ประกอบการ ทั้งระยะสั้น ระกลาง และระยาว  ในภาคฤดูร้อน 2563 ผลิตหลักสูตรใหม่ Non-Degree เพิ่มขึ้นอีก 45 ชุดวิชา หลักสูตรฝึกอบรม 47 หลักสูตร พัฒนาทักษะ Re Skill – Up Skill และทักษะแห่งอนาคต กว่า 100 หลักสูตร ตอบโจทย์บัณฑิตจบใหม่ คนวัยทำงาน และกลุ่มสูงอายุ รองรับตำแหน่งงานใหม่ตามความต้องการของตลาดในอนาคต

   วันที่ 4 มีนาคม 2563 ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) กล่าวว่า ในภาคฤดูร้อนปี 2563 ทาง มก.ได้จัดทำโครงการพัฒนาสมรรถนะบัณฑิต ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่ผู้ประกอบการ ด้วยการผลิตหลักสูตรใหม่ Non-Degree เพิ่มขึ้นอีก 45 ชุดวิชา เน้นการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต Re Skill – Up Skill และทักษะใหม่ๆ New Skill สำหรับนิสิตนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มคนทำงาน และกลุ่มสูงอายุ รองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และตำแหน่งงานใหม่ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์

     นอกจากนี้ยังเดินหน้าจัดทำโครงการพัฒนาสมรรถนะบัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่ผู้ประกอบการ ในภาคฤดูร้อน ปี 2563 จำนวน 14 ชุดวิชา รวมทั้งคัดเลือกหลักสูตรฝึกอบรมของส่วนงานต่างๆในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ อีกจำนวน 47 หลักสูตร นำเสนอต่อสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อยกระดับทักษะกำลังคนของประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curves หรือ Future Skill Set ทั้งด้าน Hard Skill และ Soft Skill ใน 10 กลุ่มทักษะ 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กำหนด ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ม ก.บางเขน เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานและยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยฝึกอบรม (RTO : Registered Training Organization) ของสอวช.ด้วย

 

       อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา  มก.ได้จัดการเรียนการสอนภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับภาคอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบายThailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กระทรวง อว. มาตั้งแต่ภาคต้นปีการศึกษา 2561 จนถึงปัจจุบัน และได้จัดตั้งวิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 โดยมีหน้าที่ดำเนินงานการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตร์ และหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non Degree) ในระบบธนาคารหน่วยกิต มีรูปแบบการสอนเป็นแบบชุดวิชา (module) ระยะเวลาการเรียน 1 ภาคการศึกษา (4 เดือน) แต่ละชุดวิชามีเป้าหมายด้านวิชาชีพที่ชัดเจนและมีความสมบูรณ์ในตัว ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถเรียนและเก็บสะสมหน่วยกิตเพื่อขอรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้อีกด้วย

     ทั้งนี้ การพัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวจัดเป็นต้นแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก และนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉม (transformation of learning) เพื่อสร้างคนไทย 4.0 และการเกษตรแบบก้าวหน้า (smart farming) โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรชุดวิชา (Non Degree) เป็นครั้งแรก แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 3 รุ่น ตั้งแต่ภาคต้นปีการศึกษา 2561 – ภาคต้นปีการศึกษา 2562 จำนวนรวม 185 คน จาก 18 ชุดวิชา

     ส่วนหลักสูตรหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non Degree) วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ยังมุ่งเป้าพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curves หรือ Future Skill Set ปัจจุบันมีชุดวิชา (Non degree) ที่สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อนุมัติแล้ว จำนวน 21 ชุดวิชา และในปีการศึกษา 2562 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จำนวน 46 ชุดวิชา โดยเป็นชุดวิชาที่สร้างขึ้นใหม่ 45 ชุดวิชา

      ดร.จงรัก กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มุ่งด้านคุณภาพ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาสมรรถนะบัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่ผู้ประกอบการ ในชุดวิชา (Non degree) ของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ โดยกำหนดการเรียนการสอนครั้งแรกในภาคดูร้อน พ.ศ. 2563 ( เดือน เม.ย.- พ.ค.63 ) มีชุดวิชาให้เลือกเรียนจำนวน 14 ชุดวิชา ชุดวิชาละ 30 คน โดยผู้เรียนจะต้องเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทุกวิทยาเขต ที่กำลังจะจบการศึกษาในภาคปลาย ปีการศึกษา 2562 และหรือเป็นบัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จบการศึกษาในปีการศึกษา 2560 – 2561 ซึ่งมหาวิทยาลัยคาดหวังไว้ว่าโครงการนี้จะเป็นโอกาสสำหรับการผลิตกำลังคนในอนาคตของประเทศอย่างมีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต

      พร้อมกันนี้ทาง มก. ยังได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยฝึกอบรม ของ สอวช. เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับทักษะกำลังคนของประเทศตามมติที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2562 ซึ่งมอบหมายให้กระทรวง อว.เป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมาย โดยหลักสูตรฝึกอบรม ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะนำเสนอในงาน Future Career Expo 2020 ร่วมกับกระทรวง อว. มีจำนวน 47 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรมุ่งเน้นการเร่งสร้างบุคลากรคุณภาพระดับสูงทั้งการสร้างทักษะ New skill การพัฒนา Re skill และ Up skill ในอุตสาหกรรม S-Curve / Future Skill Set ให้รองรับงานที่เพิ่มขึ้นในอนาคตตามนโยบายกระทรวง อว.ด้วย