ชาวบ้านปรับตัวครั้งใหญ่สู้วิกฤตแม่น้ำโขง ชูตำรับอาหาร “พาข้าวผู้ไท” อาชีพใหม่เสริมรายได้

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                  รศ.ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์(กลาง)

ชาวบ้านที่อาศัยตามลุ่มน้ำโขงในพื้นที่ ต.โคกก่ง อ.ชานุมาน จ.อุบลราชธานี ตื่นตัววิกฤตแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนจากธรรมชาติ กระทบอาชีพหลักการหาปลา ต้อง ปรับตัวครั้งใหญ่ จับมือร่วมกันทำงานวิจัย พบว่า “ตำรับอาหารพาข้าวผู้ไท”นำมาประยุกต์เป็นตำรับเมนูอาหารประจำถิ่น ชี้เป็นอีกหนึ่งในทางเลือก เพื่อความอยู่รอดต่อสู้กัลวิกฤตครั้งนี้

     หลังจากที่ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2553 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมหลุ่มน้ำใน จ.อุบลราชธานี ทั้งที่ อ.โขงเจียม อ.อ.ชานุมาน เริ่มสังเกตพบความผิดปกติของแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำมีการขึ้นลงผิดไปจากธรรมชาติ ส่งผลกระทบกับชีวิตของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงหาปลาในแม่น้ำโขง

       ผลกระทบจากการทำน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาตินั้น ทำให้ปลาไม่ขยายพันธุ์ และตลิ่งริมแม่น้ำโขงเริ่มทรุด ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป เกิดจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงทั้งทางฝั่งประเทศจีนและ สปป.ลาว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันลุกขึ้นมาทำงานวิจัย “การปรับตัวด้านเศรษฐกิจของชุมชนภายใต้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำโขง” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)หนึ่งในการปรับตัวของชาวบ้านคือการริเริ่มฟื้นฟู “ตำรับอาหารพาข้าวผู้ไทย”

                                                        นทชัย โคตรอ่อน

       นายนนทชัย โคตรอ่อน แกนนำของชาวบ้าน บอกว่า  หลังจากที่ชาวบ้าน ต.โคกก่ง อ.ชานุมาน จ.อุบลราชธานี ประสบปัญหาจากวิกฤตแม่น้ำโขง ทำให้ชาวบ้านที่นี่เริ่มคิดปรับตัว โดยการร่วมกันทำงานวิจัย จนกระทั่งพบว่า ตำรับอาหารพาข้าวผู้ไท จะเป็นหนึ่งในทางรอดกับการต่อสู้กัลวิกฤตนี้ จึงร่วมกันหาแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในพื้นที่ โดยอาศัยต้นทุนทางทรัพยากรที่มีในชุมชน นำมาประยุกต์เป็นตำรับเมนูอาหาร เกิดเป็นตำรับอาหาร พาข้าวผู้ไท

      สำหรับตำรับอาหาร พาข้าวผู้ไทนั้น หนึ่งตำรับจะประกอบด้วยอาหารหลัก คือ อาหารปิ้ง  ลาบหรือก้อย  ต้มจำพวกแกง อ่อม คั่ว หมก  นึ่ง  ป่น  ลวน  ซั่ว  แจ่ว  ตำ  ของหวาน โดยใช้วัตถุดิบนั้นจะหมุนเวียนไปตามฤดูกาลที่หาได้จากชุมชน ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้ตำรับอาหารได้ถึง 500 บาท เป็นอาชีพทางเลือกสำหรับชาวบ้านนอกเหนือจากการทำประมง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อการสร้างมูลค่าด้านกลไกทางการตลาด

                                                                ตำรับอาหาร พาข้าวผู้ไท 

    ด้าน รศ.ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ชาวบ้านริมฝั่งโขงต่างต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชาวบ้านมีความรู้เพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างเช่น เมื่อไม่สามารถทำกินในแม่น้ำโขง ชาวบ้านต้องหันมาปรับเปลี่ยนวิธีทำกินโดยใช้ทุนทางทรัพยากร ทุนวัฒนธรรม และทุนจากองค์ความรู้ก็จะทำให้ชาวบ้านสามารถต่อสู้กับวิกฤตแม่น้ำโขงได้