สยามแม็คโคร จับมือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้า “โครงการพัฒนาร้านค้าปลีกยุคใหม่ สู่ Smart โชห่วย” เต็มพิกัด ปล่อยขบวนคาราวานทีมแม็คโครมิตรแท้โชห่วย พร้อมด้วยทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ได้รับการฝึกอบรมการพัฒนาร้านค้าปลีก เพื่อยกระดับศักยภาพร้านค้าโชห่วยไทยทั่วประเทศก้าวสู่ Smart โชห่วยอย่างเข้มแข็ง พร้อมพัฒนาและส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างครบวงจร
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด เปิดเผยว่า แม็คโคร เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย หรือ โชห่วย ในการเป็นพลังขับเคลื่อนการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและเป็นศูนย์กลางสายใยชุมชน แม็คโครจึงริเริ่มโครงการ “แม็คโคร มิตรแท้โชห่วย” ขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ชูนโยบาย “เพิ่มศักยภาพร้านค้าปลีกไทย คือ เป้าหมายของเรา” เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและโชห่วย ด้วยการให้องค์ความรู้และการจัดการร้านค้าปลีกอย่างครบวงจร และแนวทางธุรกิจ เทรนด์ของลูกค้า เครื่องมือและอุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและทิศทางธุรกิจ
พร้อมทั้งกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้ร้านค้าโชห่วยก้าวทันต่อกระแสเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุค Thailand 4.0 ซึ่งตลอดระยะเวลา 12 ปีของโครงการฯ แม็คโครได้เข้าใจถึงปัญหาผู้ประกอบการมาโดยตลอด จึงมุ่งสนับสนุนด้วยองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการร้านค้าปลีกที่ทันสมัยและเป็นสากล ผ่านข้อมูล Big Data Analysis กิจกรรม และเครื่องมือต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแม็คโครมีลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วย จำนวน 700,000 ราย
สำหรับความร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในการยกระดับศักยภาพร้านค้าโชห่วยภายใต้ “โครงการพัฒนาร้านค้าปลีกยุคใหม่สู่ Smart โชห่วย”แม็คโครได้ส่งทีมงานแม็คโครมิตรแท้โชห่วยลงพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาโชห่วยไทยให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีจัดการอบรมนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เรื่องการจัดการร้านค้าปลีกไปยังร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิด มุมมอง สมัยใหม่ ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างสอดคล้อง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติอีกด้วย ซึ่งได้มีการจัดอบรมครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา จำนวนนักศึกษา 40 คน และปรับปรุงร้านค้าปลีกจำนวน 5 ร้านค้า ทั้งนี้ เราคาดหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาร้านโชห่วยให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป