โดย…ดลมนัส กาเจ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.ทรวงพลังงาน พร้อมคณะลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อขับเคลื่อนมการใช้น้ำมันดีเซลB10 น้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเมื่อเร็วๆนี้
“การลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เพราะจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัด 3-4 แสนล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท เมื่อรัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งหมด 700 เมกะวัตต์ จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดถึง 70,000 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียน 4 เท่า”
ในที่สุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยโครงการนี้รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งหมด 700 เมกะวัตต์ และที่กำหนด จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 700 เมกะวัตต์จากภาคเอกชนให้ปี 2563 จากนั้นกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD)ต่อไป
สำหรับจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ แบ่งออกเป็นแบบ Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 โดยเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จเข้ามาร่วมโครงการได้ โดยรัฐบาลจะอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป พร้อมกำหนดปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายนั้นต้องไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ คาดว่าโครงการจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดถึง 3-4 แสนล้านบาทในห้วงเวลา 20 ปี ของโครงการนี้
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่จ.ขอนแก่น เพื่อร่วมการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานนโยบายด้านพลังงานชุมชนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เกษตรกร และประชาชนที่สนใจ โดยมี นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
การดินทางของนายสนธิรัตน์ในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้กับประชาชน 6 จังหวัดจากพื้นที่อีสานตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม และอุบล ซึ่งให้สนใจเข้าร่วมรับฟังนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนนับพันคน หวังแก้ปัญหาความยากจนให้ครอบครัวอย่างยั่งยืนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายสนธิรัตน์ บอกว่า หลังจากที่กพช.เห็นชอบกรอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 4 ธันวาคม 2562 โดยรับซื้อไฟฟ้าใน 4 ประเภทเชื้อเพลิง คือไฟฟ้าชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) และ เชื้อเพลิงไฮบริด โดย 3 ประเภทเชื้อเพลิงดังกล่าว รวมกับโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ขณะนี้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป
ชัชพล ประสพโชค
ในมุมมองของ นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตามที่ กพช. ได้อนุมัติโรงไฟฟ้าชุมชนให้เอกชนดำเนินการได้นั้น เป็นเรื่องที่น่าสน และถือเป็นการมอบขวัญปีใหม่ที่มีคุณค่าให้กับเกษตรกร เนื่องจากตามโครงการนี้จะมีโรงไฟฟ้าชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในระหว่างนปี 2563-2564 ที่ชุมชนเจ้าของเป็นกิจการเอง และใช้วัตถุดิบจากวัสดุเหลือใช้จากเกษตรกรโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น ฟางข้าว ซังข้าว ซังข้าวโพด และหญ้าเนเปียร์ ที่ชุมชนยัจะมีส่วนแบ่งรายได้จากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ ไฟฟ้าจากน้ำเสีย หรือของเสีย รวมถึงก๊าซชีวภาพ ที่ได้จากพืชพลังงานอีกไม่กว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮบริดจะได้ส่วนแบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย
“การลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เพราะจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัด 3-4 แสนล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท เมื่อรัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งหมด 700 เมกะวัตต์ จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดถึง 70,000 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียน 4 เท่า หรือประมาณ 2.8 แสนล้านบาท” นายชัชพล กล่าว
ที่สำคัญและน่าสนเป็นอย่างยิ่ง คือเมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จแล้ว จะมีการซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้า คำนวนจากโรงไฟฟ้าขนาด 1.5 เมกกะวัตต์ จะต้องซื้อวัตถุดิบอยู่ที่ปีละ 15 ล้านบาท หากมีโรงไฟฟ้าชุมชน 700 แห่ง จะมีเงินกระจายสู่ชุมชนปีละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้าบาท และมีเงินหมุนเวียน 4 เท่า หรือประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลา 20 ปีของโครงการนี้ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดมีการจ้างงานในโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง จำนวน 10-12 คน เท่ากับเกิดการจ้างงานตลอดซัพลายเชนถึง 1 หมื่นคน
นายชัชพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันในพื้นที่ทางภาคเหนือ และภาคอีสานมีการปลูกข้าวโพด อ้อย เป็นจำนวนมาก จะเห็นว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ของทุกปีจะมีการเผาซังข้าวโพด เผาอ้อย จนเกิดเกิดฝุ่น PM 2.5 ฉะนั้นถ้านำวัตถุดิบมาป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนก็จะลดปัญหามลพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนปีละ 15 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียนในระบบไม่ต้อง รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินตั้งกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท
“ขณะนี้ยูเอซีมีโครงการโรง 1.5 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบจากพืชพลังงาน ยังไม่ได้รับใบอนุญาต PPA เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการสนับสนุน ซึ่งบริษัทเตรียมจะยื่นเข้าร่วมโครงการแบบ Quick win กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างแน่นอน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล กล่าว
ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ /ภาพจาก: hoonsmart.com
สอดคล้องแนวคิดของ นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ระบุว่า เป็นข่าวดีที่ กพช.ได้อนุมัติเกณฑ์ลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 700 เมกะวัตต์ ขณะนี้บริษัทมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กใช้เชื้อเพลิงจากหญ้าเนเปียร์ จำนวน 1 โรงขนาด 4 เมกะวัตต์ ซึ่งจะยื่นเข้าสู่โครงการ Quick win จ่ายไฟฟ้าในปี 2563 โดยใช้วัตถุดิบจากหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกไว้ 1,200 ไร่ และรับซื้อจากเกษตรกรอีกจำนวน 600 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายวัตถุดิบหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเป็นสร้างรายได้ให้กับชุมชนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งของรัฐบาลที่น่าสนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องเพราะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 700 เมกะวัตต์ ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศชาติประหยัดพลังเชื้อเพลิงเท่านั้น หากจะเป็นการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้มาเป็นประโชน์ และยังสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน และมีเม็ดเงินสะพัดอย่างมหาศาลอีกด้วย