รมช.พาณิชย์ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” นำทัพกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่จัหงวัดอุบลราชธานี เป้าหมายพลักดันและเสริมศักยภาพเกษตรกรอีสานใต้ ให้ความรู้ด้าน FTA หวังติดปีกสินค้าเกษตรไทย ขยายส่งออกสู่ตลาดโลก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานีว่า กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรไทยสามารถพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และใช้ประโยชน์จาก ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น
การสัมมนาในครั้งนี้ได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งการตลาด การพัฒนาสินค้า และข้อมูลเอฟทีเอ มาแบ่งปันประสบการณ์กับเกษตรกรกลุ่มภาคอีสานใต้ 4 จังหวัด ทั้งอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ ที่เข้าร่วมกว่า 150 คน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนานำสินค้าเกษตรของตนมาให้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการตลาด ซึ่งมีผู้สนใจร่วมนำผลิตภัณฑ์จำนวนมากมาจัดบูธในงานนี้ อาทิ ข้าวอินทรีย์ ชาหอมแดง น้ำมันรำข้าว มัลเบอรี่แปรรูป ผ้ากาบบัว และผ้าไหมเป็นต้น เพื่อให้มาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการที่จะต่อยอดนำสินค้าส่งออกไปยังประเทศที่ไทยได้ลงนามข้อตกลงว่าการค้าค้าเสรีทั้ง 18 ประเทศอย่างคึกคัก
สำหรับเป้าในการร่วมมือร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสภาเกษตรกรแห่งชาติครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้แก่เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันไทยมีการทำเอฟทีเอ รวม 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย. ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ คือ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่แลกเปลี่ยนกันในวันนี้ไปพัฒนาสินค้าของตนให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด เพิ่มยอดขาย และสร้างรายได้ที่แน่นอนมั่นคงให้กับกลุ่มเกษตรกร และสมาชิกในเครือข่ายของสภาเกษตรกรแห่งชาติต่อไป
นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ยังได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนโคขุนสมุนไพรดอนมดแดง ที่ผลิตอาหารสัตว์เองจากแปลงข้าวโพดและแปลงหญ้าของเกษตรกร ทำให้สามารถลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพของเนื้อโคขุนได้ และมีโอกาสที่จะพัฒนาแม่พันธุ์โค และโคขุน คุณภาพพรีเมี่ยมเพื่อส่งออก ซึ่งได้แนะนำเกษตรกรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล รวมถึงให้ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอมาสร้างแต้มต่อทางการค้าและขยายตลาดส่งออก โดยขณะนี้ประเทศคู่ค้าของไทย เช่น อาเซียน และจีน ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าโคเนื้อส่งออกจากไทยแล้ว
ดังนั้น หากเกษตรกรพัฒนาคุณภาพสินค้าโคเนื้อของไทยให้ตอบสนองความต้องการของตลาด มีกระบวนการผลิต และโรงงานชำแหละที่ได้มาตรฐาน GMP ฮาลาล และความปลอดภัย แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น เนื้อชาบูสไลด์แช่แข็งพร้อมบริโภค เนื้ออบกรอบ เป็นต้น จะทำให้ผลิตภัณฑ์โคเนื้อของไทยมีโอกาสสูงในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการ ณ ที่ด่าน และได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายเวลาทำการของด่านเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอีกด้วย โดยจุดผ่านแดนช่องเม็กถือเป็นจุดผ่านแดนที่สำคัญติดกับเมืองปากเซ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของ สปป. ลาว รองจากนครหลวงเวียงจันทน์ และสะหวันนะเขต
อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อไปยังเวียดนามตอนใต้ และกัมพูชาตอนเหนือได้ ปัจจุบัน การค้าชายแดนที่จุดผ่านแดนนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 8,500 ล้านบาท เป็นการนำเข้า 2,300 ล้านบาท และส่งออก 6,200 ล้านบาท สินค้าหลักที่มีการซื้อขายที่ชายแดนของไทย ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์และส่วนประกอบ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ สินค้าปศุสัตว์ เครื่องรับส่งสัญญาณโทรศัพท์ เป็นต้น
ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอในการผลักดันสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปจากทุกภูมิภาคสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ ภายใต้สัมมนา “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” มีการเสวนาย่อยประกอบด้วย ช่วงเช้า“ชี้ช่องรวยรุกตลาดส่งออกสินค้าเกษตรด้วยเอฟทีเอ” และช่วงบ่ายเสวนา “ทำอย่างไรให้ส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดการค้าเสรี”
เป้าหมายเพื่อให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยของไทยมีรายได้ที่มั่นคง ทั้งนี้ ภาคอีสานตอนล่างเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย และการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอจะช่วยให้เกษตรกรขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย เนื่องปัจจุบันไทยจัดทำเอฟทีเอแล้ว 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ที่มีการยกเลิกการนำเข้าสินค้าจากไทยแล้ว ไม่ว่าผลไม้ มันสำปะหลังไปจีน โคเนื้อ เป็นนต้น และล่าสุดทราบว่าภายในงานนี้มีการตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างกันแล้ว