มก.อนุญาตเรียบร้อบแล้ว ให้เอกชนผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ 4 รายการ 4 ปี

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยลาลัยเกษตรศาสาตร์ นามบันทึกข้อตกลงอนุญาตให้ บริษัท ออล แคร์ พลัส ใช้สิทธิในผลงานวิจัยสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ “การพัฒนาเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ” เพื่อการค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 4  ผลงาน “แก้ว -ช้อน (มือขวา)-ถ้วย -จาน” เป็นเวลา 4 ปี ผู้ประกอบระบุต้องการให้คนสูงอายุคนไทย ได้เข้าถึงการใช้อุปกรณ์ ขายเป็นชุด 4 อย่างราคา 599 บาท 

      เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ “การพัฒนาเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ” ระหว่างมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และ บริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด โดยมี ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีลงนาม ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ

      ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าว เป็นการอนุญาตให้บริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด โดย ดร. ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ประธานกรรมการบริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด ใช้สิทธิในผลงานวิจัยสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ “การพัฒนาเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ” จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่ ผลงานวิจัยสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เรื่องแก้ว เรื่องช้อน (มือขวา) เรื่องถ้วย และ เรื่องจาน เป็นระยะเวลา 4 ปี ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยของรศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประดิษฐ์และพัฒนาร่วมกับนักออกแบบ พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด และนักอาชีวบำบัด เป็นเวลากว่า 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกมีคุณค่าในตนเองด้วยการพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ที่มีราคาไม่แพง น้ำหนักเบา กระชับมือ และมีความสวยงาม ปลอดภัย

        รศ.ดร.สิงห์  กล่าวว่า การพัฒนาอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับสรีระวิทยาของผู้สูงอายุไทย เพื่อส่งเสริมความสามารถในการรับประทานอาหารด้วยตนเองในชีวิตประจำวันแม้กล้ามเนื้อมือและแขนอ่อนแรง โดยมีหลักการออกแบบ ดังนี้ 1. การออกแบบจานสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก แตกต่างจากจานทั่วไป กล่าวคือ จานสำหรับผู้สูงอายุจะมีความลาดเอียงที่ก้นจานเพื่อให้อาหารไหลไปด้านที่ลึกกว่า ขอบจานจะเอียงเช่นกันแต่เป็นด้านตรงข้ามกับส่วนที่ลึกของก้นจานเพื่อลดอุปสรรคและสะดวกต่อการตักอาหาร ก้นจานออกแบบให้มีส่วนยื่นออกทางด้านข้าง เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก สามารถใช้มือ/แขนที่ไม่ได้จับช้อนช่วยประคองจานให้อยู่กับที่ในขณะทานอาหาร จานอาหารมีขนาดกว้าง 23 x 20 x สูง 3.8 เซนติเมตร

      2. การออกแบบถ้วยซุปสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก แตกต่างจากถ้วยซุปทั่วไป โดยมีลักษณะการออกแบบเช่นเดียวกับจานอาหาร กล่าวคือ ถ้วยอาหารสำหรับผู้สูงอายุจะมีความลาดเอียงที่ก้นถ้วยเพื่อให้ซุปไหลไปด้านที่ลึกกว่า ขอบถ้วยจะเอียงเช่นกันแต่เป็นด้านตรงข้ามกับส่วนที่ลึกของก้นถ้วยเพื่อลดอุปสรรคและสะดวกต่อการตักอาหาร เนื่องจากถ้วยมีความสูงกว่าจานและมีขอบที่ยื่นออกเล็กน้อยจึงทำให้ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก สามารถใช้แขนที่ไม่ได้ถือช้อนประคองให้ถ้วยอยู่กับที่ได้ ถ้วยซุปมี ขนาด สูง 4 x กว้าง 15 x หนา 0.2 x ลึก 3 เซนติเมตร

     3. การออกแบบแก้วน้ำสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก มีความแตกต่างจากแก้วน้ำทั่วไป กล่าวคือแม้แก้วน้ำจะมีความสูงปรกติเพื่อให้รองรับกับขนาดของมือ แต่ภายใน ก้นแก้วจะสูงขึ้นเพื่อลดปริมาณน้ำในแก้วไม่ให้มากเกินไป ป้องกันการสำลัก และออกแบบให้ขอบแก้วด้านบนมีส่วนยื่น เพื่อช่วยพยุงทำให้อุ้งมือสามารถพยุงแก้วได้ง่ายและกระชับขึ้น โดยตัวแก้วไม่มีรอยเว้า เพื่อแก้ปัญหาการจับแก้วผิดด้าน 

     4. การออกแบบช้อน(มือขวา)สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก มีความแตกต่างจากช้อนทั่วไป ได้แก่ ด้ามช้อนมีขนาดใหญ่กว่าช้อนปกติ ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการจับและการกำ (การกางของนิ้วมือ) เพราะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อช่วงกลาง (middle range) ซึ่งเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนตัวช้อนและด้ามช้อนมีการโค้งหักมุม เพื่อให้สะดวกต่อการตักอาหารเข้าปากและลดการเหยียดของไหล่ สะบักและข้อศอก

        นอกจากนี้ ยังออกแบบให้มีน้ำหนักเบาเนื่องจากผู้สูงอายุจะมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง แม้มีรูปทรงที่เหมาะสมกับ อุ้งมือแต่น้ำหนักเป็นปัจจัยสำคัญในการยกช้อนเพื่อทานอาหาร ปริมาณความจุของช้อนอยู่ที่ 5 ml. เพื่อป้องกันการตักอาหารมากเกินไปซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการสำลักได้ ด้านช้อนจะโค้งตัวสูงขึ้นเพื่อป้องกันการไหลของอาหารมาที่มือผู้ใช้ สำหรับผลงานการออกแบบช้อน ได้รับรางวัลมาแล้ว 2 รางวัล ได้แก่ รางวัล Design Excellence Award (DEmark) 2019, ประเทศไทย และ รางวัล GOOD DESIGN AWARD (GMark) 2019, ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการเลือกสีและผิวสัมผัส ยังมีความสำคัญต่อการมองเห็น ความรู้สึกและความสุขของผู้ใช้งาน สีและผิวสัมผัสของชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ คัดเลือกจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยสูงอายุขณะพักรักษาตัวในสถานพยาบาล

      ด้าน ดร. ภัทรารัตน์ กล่าวว่า อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ที่บริษัทได้ตกลงขอใช้สิทธิจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อนำไปผลิตสู่ผู้บริโภคนั้น ตนมีความมั่นใจที่จะได้รับการตอบรับจากผู้ใช้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการวิจัยในสภาพแวดล้อมจริงและใช้ทดลองกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยจริงมาแล้ว อีกทั้งยังเป็นผลงานการประดิษฐ์ของคนไทย คือ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงของประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการใช้งาน โดยเฉพาะเรื่องราคานั้นจะมีราคาไม่แพงเพื่อให้ผู้สูงอายุไทยเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ ทั้งนี้ อุปกรณ์ขายเป็นชุด ๆ ละ 599 บาท ประกอบด้วย จาน ถ้วย แก้ว และช้อน ในเบื้องต้นผุ้สนใจสามารถสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ และ ร้าน Scrap shop มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ allcareplus.official@gmail.com โทรศัพท์ 098 982 4481