กรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนนโยบายกระทรวงเกษตรฯ มุ่งพัฒนายกระดับสินค้าเกษตรคุณภาพดีสู่มาตรฐานสากล เน้นระบบการตลาดนำการผลิต หนุนนักวิจัยผลิตงานวิจัยปรับใช้ประโยชน์ ตอบโจทย์แก้ปัญหาการเกษตรของไทยแบบครบวงจร พร้อมร่วมบูรณาการสืบสานต่อยอดศาสตร์พระราชาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2515 เพื่อทำหน้าที่ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และพัฒนาวิชาการเกษตรด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับพืช เครื่องจักรกลการเกษตร ให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ รับรอง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับดิน น้ำ ปุ๋ย วัสดุการเกษตร ผลผลิต และผลิตภัณฑ์พืช การบริการส่งออกสินค้าเกษตร รวมทั้งกำกับดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 6 ฉบับ ซึ่งในปี 2562 กรมวิชาการเกษตรมีผลการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา อาทิ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน โดยได้ทำการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชในระบบ GAP ผ่านมาตรฐาน 108,647 แปลง พื้นที่ 539,811.65 ไร่ และตรวจรับรองโรงคัดบรรจุ โรงงานแปรรูป โรงรมตามมาตรฐาน GMP HACCP และ GFP ผ่านมาตรฐานรวม 885 โรงงาน รวมถึงพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ เป้าหมาย 32 แห่ง
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังมีผลงานวิจัยดีเด่นอีกมากที่พร้อมขยายผลเผยแพร่สู่เกษตรกร โดยเฉพาะพืชพันธุ์ใหม่ 34 พันธุ์ แบ่งเป็น พันธุ์พืชรับรอง 13 พันธุ์ พันธุ์แนะนำ 21 พันธุ์ เครื่องจักรกลการเกษตรที่พร้อมขยายผล จำนวน 19 เครื่อง การถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ ซึ่งผู้ประกอบการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกรมวิชาการเกษตรนำไปผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ รวม 7 เทคโนโลยี การขับเคลื่อนผลงานวิจัยปรับไปใช้ประโยชน์ถ่ายเทคโนโลยีผ่านเกษตรกรต้นแบบและแปลงต้นแบบ โดยเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานในปี 2562 ที่ผ่านมา และแผนในปี 2563 รวม 15 โครงการ
ในปี 2562 กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานสนับสนุนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ นโยบายเกษตรอินทรีย์ ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ผ่านมาตรฐาน รวม 3,171 แปลง และกิจกรรมส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ โดยการอบรมให้ความรู้เกษตรกรด้านการผลิตพืชอินทรีย์ รวม 3,650 ราย รวมทั้งจัดทำแปลงต้นแบบการผลิตพืชอินทรีย์ ผลิตพ่อพันธุ์–แม่พันธุ์แมลงศัตรูพืชธรรมชาติ และผลิตชีวินทรีย์ในการควบคุมศัตรูพืช นโยบายระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืช 5,514 ราย ตรวจรับรอง GAP ผ่าน 3,269 ราย และจัดทำแปลงต้นแบบ 2,043 ไร่ นโยบายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ชีวินทรีย์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช การใช้ปัจจัยการผลิตอย่างถูกต้องและเหมาะสมรวม 11,063 ราย ผลิตพ่อพันธุ์–แม่พันธุ์ แมลงศัตรูธรรมชาติ 15 ชนิด เผยแพร่องค์ความรู้ผ่าน Smart–Box 90 แห่ง และแจ้งเตือนภัยศัตรูพืชทุกสัปดาห์
ในส่วนการดำเนินงานสนับสนุนนโยบาย Zoning by Agri-Map ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก ปรับโครงสร้างการผลิตในพื้นที่ S3 และ N โดยการสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่ที่เหมาะสม 1,427 ราย จัดทำแปลงต้นแบบ 1,566 ไร่ ส่วนการพัฒนาศักยภาพการผลิตทางการเกษตร โดยดำเนินงานด้านการเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช การพัฒนากลุ่มปลูกสมุนไพรให้เข้าสู่ระบบ GAP /GMP แล้ว 5 แห่ง และฝึกอบรมเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบการจัดการ GAP และแปรรูปสมุนไพรแล้ว 113 ราย การผลิตพันธุ์พืชคุณภาพดีและปัจจัยการผลิต ได้แก่ พืชไร่ 11 ชนิด พืชสวน 33 ชนิด ปัจจัยการผลิต 19 ชนิด รวมถึงมีภารกิจตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มาตรการจำกัดการใช้ 3 สาร การเปิดตลาดมะม่วงไปออสเตรเลีย และการส่งออกมังคุดไปไต้หวันที่เป็นผลสำเร็จในปีนี้ด้วย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตรจะจัดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมเป็นประจำทุกปี และในปีนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งสารมาแสดงความยินดีและมอบหมายให้นางอุมาพร พิมลบุตร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนากรมวิชาการเกษตรครบรอบปีที่ 47 และมอบนโยบายการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาพืชให้แก่คณะผู้บริหารและนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะได้นำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรต่อไป พร้อมขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงการผลิตพืชของเกษตรกร ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดสินค้าเกษตร พร้อมร่วมบูรณาการสืบสานต่อยอดศาสตร์พระราชาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง