ปิดฉากอย่างสวยงาม โครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” เป็นครั้งที่ 6 ที่ จ.สงขลา ท่ามกลางผู้ประกอบการน้ำสินแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตรอย่างคึกคัก หลังจากที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ควงพันธมิตรสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่พบหารือกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ ลุยสวนส้มจุกจะนะ มะม่วงเบาแปรรูป ผลิตภัณฑ์ตาลโตนด เน้นโอกาสของสินค้าเกษตรไทยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ หวังยกระดับคุณภาพ มาตรฐานสินค้า และแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันทางการค้าเกษตรกรไทยและขยาย การส่งออกไปตลาดโลก ก่อนระดม 30 ผลิตภัณฑ์จากสินค้าเกษตรท็อปเท็นจาก 6 ภูมิภาค จัดสัมมนาใหญ่อีกครั้งในกรุงเทพฯเร็วๆนี้
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดทัพร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 6” ถือเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการที่งบประมาณ ปี 2562 ให้กับกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ 6 จังหวัด คือ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ชุมพร สตูล เมื่อวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2562 ณ จังหวัดสงขลา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่แล้ว 5 ภูมิภาค
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้พบปะกับวิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ อำเภอจะนะ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาออก อำเภอสิงหนคร แปรรูปผลิตภัณฑ์มะม่วงเบา. และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมใยตาลโหนดทิ้ง อำเภอสทิงพระ. จ.สงขลา ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมเจรจาฯ ได้แจ้งให้กลุ่มเกษตรกรทราบถึงประโยชน์ของความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ในการขยายการส่งออกให้กับสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศต่างๆ ที่ไทยทำเอฟทีเอด้วย 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย เปรู ชิลี ฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่ได้ลดหรือยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยแล้ว
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรไทยในการขยายตลาดและส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลกด้วยมูลค่ากว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ค้าเอฟทีเอมูลค่ากว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 64 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ผลิตภัณฑ์ตาลโตนดต่างๆ เป็นต้น
นางอรมน กล่าวอีกว่า นอกจากการลงพื้นที่ กรมฯ ยังได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดเอฟทีเอ” ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีซ แอนด์ รีสอร์ท อำเภอเมืองสงขลา ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากกลุ่มเกษตรกรภาคใต้กว่า 150 คน ให้ได้ทราบข้อมูลเรื่องช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และการทำการตลาดต่างประเทศ
โดยกรมฯ ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการตลาดมาติวเข้มวิเคราะห์สินค้าและแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในจังหวัดภาคใต้ด้วย ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจนำสินค้ามาวิเคราะห์และร่วมจำหน่ายในงานเสวนาอย่างคึกคัก อาทิ ผ้าใยสัปปะรด ผ้าย้อมใยกล้วย มะม่วงเบาแปรรูป ลูกหยีแปรรูป ทั้งนี้ กรมฯ เชื่อมั่นว่า การจัดงานครั้งนี้ ได้ช่วยทำให้เกษตรกร มองเห็นช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และผลประโยชน์จากการใช้ความตกลงเอฟทีเอในการทำการค้าระหว่างประเทศ
“จากการที่เราลงพื้นที่พบหารือกับวิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ ทำให้ได้ทราบว่า อยู่ระหว่างการยื่นขึ้นทะเบียนสินค้า GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยสินค้าส้มจุกจะนะมีความโดดเด่น คือ เป็นส้มที่มีความหอม รสเปรี้ยวอมหวาน ขนาดประมาณ 3-4 ผลต่อกิโลกรัม ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 200 บาท ปัจจุบันผลผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย สำหรับการพบหารือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาออก อำเภอสิงหนคร มีการแปรรูปมะม่วงเบา มีพื้นที่ปลูกมะม่วงเบา 1,000 ไร่ ให้ผลผลิต 1,000 ตันต่อปี เป็นมะม่วงเบาที่มีจุดเด่นคือ ผลเล็ก รสเปรี้ยว กรอบ มีวิตามินสูง สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มะม่วงได้หลายชนิด โดยกลุ่มมีการแปรรูปเป็นมะม่วงเบาแช่อิ่ม น้ำมะม่วงเบา มะม่วงกวน แยมมะม่วงเบา เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการขยายการจำหน่ายไปยังตลาดมาเลเซีย และสิงคโปร์” นางอรมน กล่าว
อธิบดีกรมเจรจาฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ทางกรมเจรจาฯ ยังได้พบร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมใยตาลโหนดทิ้ง อำเภอสทิงพระ เป็นแหล่งปลูกตาลโตนดมากที่สุดในประเทศ มากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ใยตาลมีจุดเด่นคือ เหนียว ไม่ขึ้นรา มีความมันไม่สามารถย้อมสี แต่มีสีสันเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับงานหัตถกรรมที่มีความปราณีตสวยงาม อาทิ กระเป๋า หมวก ของประดับบ้าน เป็นต้น โดยใช้วัสดุ แรงงาน และการออกแบบในพื้นที่ ปัจจุบันสินค้าส่งออกไปตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และกัมพูชา และเป็นสินค้าที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเพิ่มแต้มต่อในการขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะตลาดพรีเมี่ยม ในส่วนของผลตาล มีการนำมาแปรรูปเป็นลูกตาลสดพร้อมทาน ลูกตาลน้ำกะทิ ลูกตาลลอยแก้ว น้ำตาลโตนด ตาลโตนดกระป๋อง เพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบในพื้นที่ จะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ด้าน น.ส.มุณิกา แจ่มใส่ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาความพร้อมทางการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว ตามที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ได้ครบทั้ง 6 แล้ว ต่อไปจะมีการจัดสัมมนาใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยจะระดมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทางการทั้ง 6 ภูมิภาค ที่คัดมาร่วมในสัมมนา พร้อมจะขัดผลิตภัณฑ์เด่น 30 รายการจากทั่วประเทศที่มีโอกาสขยายสู่ตลาดต่างประเทศโดยอาอาศัยที่ประเทศไทยได้ตกลงการค้าเสรีกับ 18 ประเทศต่อไป (รายละเอียดตามในคลิป)
ขณะที่ว่าที่ร้อยตรีพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทั้ง 6 ภูมิภาคนั้น ยังพบว่า จะปัญหาของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจะเป็นในด้านของคุณภาพ และมาตรฐานที่ส่วนใหญ่อย่างไม่มีหน่วยงานรัฐรับรอง ดังนั้นการที่จะขยายผลิตภัณฑ์เหล่านี้สู่ตาดต่างประเทศได้ต้องให้หน่วยงานของรัฐรับรองมาตรฐานด้วยโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านอาหารที่ควรจะได้รับรับรององค์การอาหารและยา หรืออย. ส่วนผลิตภัณฑ์ด้านแปรรูป โดยเฉพาะด้านหัตถกรรม ที่เป็นประดิษฐ์ด้วยมือหรือแฮนเมด เป็นที่ต้องการของตลาด ก็ควรให้มีความหลากหลาย การออกแบบและแพ็กกิ้งที่สวยงาม พร้อมๆกับรับรองคุณภาพด้วย (รายละเอียดในคลอิป)