กรมเจรจาฯลุยพื้นที่ ติวเข้มเกษตรกรอีสานล่าง หวังดันผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสู่โกอินเตอร์ด้วยเอฟทีเอ(มีคลิป)

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือพันธมิตร ลงลุยพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรอีสานล่าง  หวังเฟ้นหาสินค้าเกษตรไทยที่เป็นช้างเผือกในพื้นที่ พุ่งเป้าที่ชาหอมแดงอินทรีย์ และทุเรียนภูเขาไฟของดีที่ศรีสะเกษ เพื่อยกระดับให้ได้คุณภาพ มาตรฐานสินค้า และแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย หวังใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ส่งออกไปยังมิตรประเทศที่ทยได้ลงนามไว้ 18  ประเทศ  “อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” ชี้ตลาดจีน อาเซียน และรัสเซียน่าสนใจ เพราะเป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูงด้วย

         นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลจัดการที่ทัพร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่ดำเนินโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 5” ให้กับกลุ่มเกษตรกรของภาคอีสานล่าง 3 จังหวัดคือ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และยโสธร เมื่อวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2562 ณ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า  การลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในครั้งนี้ได้ไปพบกับผู้ผลิตชาหอมแดงอินทรีย์ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปหอมแดงบ้านเมืองแสน ม.6 ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ที่ชาวบ้านใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มาผลิตเป็นชาหอมแดงจำหน่าย ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของหอมแดงให้ขยับสูง

        นายอรมน กล่าวอีกว่า จากการสอบถามนางวิลาวัลย์  แก้วคำ ประธานกลุ่มฯ ทราบว่าหอมแดง 10 กิโลกรัม เมื่อแปรรูปเป็นชา สามารถขายได้มูลค่าสูงถึง 11,000 บาท และมั่นใจว่าการต่อยอดงานวิจัยต่อไปจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องประโยชน์ของหอมแดงพืชสมุนไพรไทย หอมแดงยังสามารถแปรรูปเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ได้ อาทิ เครื่องปรุงรส เครื่องเทศ สบู่ เครื่องสำอาง นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและลดความเสี่ยงด้านการตลาด แก้ปัญหาหอมแดงล้นตลาดราคาตกต่ำได้ด้วย

         นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนภูเขาไฟที่สวนทศพร ที่ ต.ตระกาจ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษเช่นกัน ซึ่งเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ สินค้า GI ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยกรมฯ ได้ ย้ำถึงโอกาสธุรกิจของสินค้าเกษตรท้องถิ่นในการขยายการส่งออกไปต่างประเทศ แต่เกษตรกรจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน สร้างเรื่องราวของสินค้า รวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างอำนาจต่อรองราคา สนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น

        สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมฯ ได้มีโอกาสประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรถึงงานของกรมฯ ที่ทำหน้าที่เจรจาต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า เพื่อเปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าให้กับสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรจึงต้องการให้สินค้าเกษตรไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้จากการจัดทำการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าโดยปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดทำเอฟทีเอแล้ว 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย เปรู ชิลี ฮ่องกง โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา เมื่อปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลกด้วยมูลค่ากว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ค้าเอฟทีเอมูลค่ากว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 64 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร

        สำหรับผลไม้ทุเรียน ปี 2561 ไทยส่งออกทุเรียนสดและแปรรูปด้วยมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 โดยมีตลาดส่งออกหลักกว่าร้อยละ 80 คือ จีนและเวียดนาม ตามมาด้วยฮ่องกง และไต้หวัน ขณะที่ปีเดียวกันมีมูลค่าส่งออกหอมแดง หอมหัวใหญ่ สดและแช่เย็นกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกหอมแดงของไทยคือ อาเซียน และญี่ปุ่น

         อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า  นอกจากการลงพื้นที่แล้ว กรมฯ ยังได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดเอฟทีเอ” ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรม แกลเลอรี่ ดีไซน์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีจากเกษตรกร เป็นโอกาสได้รับทราบข้อมูลเรื่องช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และการทำการตลาด

       พร้อมกันนี้กรมฯ ยังได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการตลาดมาติวเข้มวิเคราะห์สินค้าและแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเกษตรกรให้ความสนใจนำสินค้ามาวิเคราะห์และร่วมจำหน่ายในงานเสวนาอย่างคึกคัก อาทิ ข้าวเกรียบทุเรียนภูเขาไฟ แยมมัลเบอรี่ แตงโมตอปิโด ชาหอมแดง โดยกรมฯ เชื่อมั่นว่า การจัดงานครั้งนี้ ได้ช่วยทำให้เกษตรกรมองเห็นลู่ทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของตนและขยายช่องทางการจำหน่ายไปตลาดโลกด้วยการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยเฉพาะการส่งออกไปอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ซึ่งได้ลดเลิกการเก็บภาษีศุลกากรส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว นอกจากนี้ยังมีตลาดรัสเซียอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจเช่นกัน

        ด้าน ส่าที่ ร.ต.สมพูลทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่ได้ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” มาตั้งแต่ต้นและได้ลงพื้นที่ 5 ครั้ง พบว่า ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาด้านตลาดคือผลิตแล้วไม่มีที่ขาย จึงถือโอกาสลงพื้นนี้ได้ชี้แนะช่องทางให้เกษตรกรได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ เพราะว่า มีสินค้าหลายอย่างที่มีคุณภาพที่เกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพ มาตรฐานสินค้า และแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย ซึ่งสามารถที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศไทย (รายละเอียดในคลิป)