10 องค์กรเครือข่ายยางไทย จับมือสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ประเทศเมียนมาร์ เดินหน้าร่วมแก้ปัญหายางพาราร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราและเป็นการสร้างงานภายในประเทศ หวังยกระดับราคายางของเกษตรกรให้สูงขึ้นในอนาคต
เมื่อวันที่ 31พฤษภาคม 2562 ได้มีพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลง (MOU)ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายางพาราไทย-เมียนม่าร์ร่วมกัน ระหว่าง สภาเครือข่ายและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประทศไทย (สยยท.)นำโดยนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานฯ สยยท.กับสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ประเทศเมียนมาร์ นำโดย MR.Hla Myint ประธานสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ประเทศเมียนมาร์ และผู้แทนฝ่ายไทยจำนวน 10 องค์กร ที่มาจากเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องด้านยางพารา ณ โรงแรมเคที พาเลท ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายอุทัย กล่าวภายหลังลงนามฯว่า ได้มีตัวแทนฝ่ายไทยเข้าร่วมด้วย 10 องค์กร ประกอบด้วย สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.),หน่วยงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ยางพาราคณะเศรษฐศาสตร์ หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สมาคมการค้ายางพาราจังหวัดบึง, สถาบันวิชาการ วี – เซิร์ฟ, สันนิบาตสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ, สภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ, บริษัท กนกโปรดักส์ จำกัด, บริษัท นิพัฒน กลการ จำกัด โดย นายนิพัฒน์ โกมลวิทยคุณ ตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท นิพัฒนกลการ จำกัด, บริษัท เอเชียเกียริ่ง จำกัด,วิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียนที่ให้ความสนใจ
การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราและเป็นการสร้างงานภายในประเทศ เพื่อยกระดับราคายางของเกษตรกรให้สูงขึ้น ซึ่งจะร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนายางพาราตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ และร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมยางพาราใหม่ๆ ให้มีคุณภาพดีได้มาตรฐานสากลโดยใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน เป็นที่นิยมและยอมรับในตลาดอาเซียนและตลาดโลก
“วันนี้รัฐบาลยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องยางยังไม่ตก เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องมานาน ผมว่าการทำความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางบางเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศคือ ไทย และเมียนม่าร์ เพราะหากแต่ละประเทศนำยางมาใช้ทำอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้นแล้วจะส่งผลให้ปริมาณยางในรูปวัตถุดิบลดลง ทำให้ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นทันที ซึ่งในอนาคตหากเราได้สร้างตลาดกลางยางพารา ในการซื้อ – ขายจริง เพื่อสะท้อนตลาดที่แท้จริงตามต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดย 5 ประเทศในอาเซียนจะรวมกัน ตั้งตลาดกลางกำหนดราคาขายเอง และหากรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งก็ควรเร่งหาทางแก้ปัญหายางพาราอย่างรีบด่วน ” นายอุทัยกล่าว
สำหรับข้อบันทึกความร่วมมือดังกล่าวได้กำหนดขอบเขตความร่วมมือร่วมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้คือ ประเทศเมียนมาร์ แลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ระหว่างประเทศและร่วมมือกันสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสร้างงานในประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพิ่มมูลค่ายางให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมาตรฐานสากลและให้ความร่วมมือในการตั้งตลาดกลางยางพาราในอาเซียน ส่วนสภาเครือข่ายยางและสถาบันยางแห่งประเทศไทย ( สยยท.) ทำหน้าที่จัดสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมยางทั่วประเทศและจัดหางบประมาณรัฐบาลมาสนับสนุนเครือข่าย, ประสานงานด้านการฝึกอบรมเกษตร, วิจัยหานวัตกรรมใหม่ๆสู่เกษตรกร, จัดหาตลาดสนับสนุนเกษตรกร
ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ให้ความร่วมมือด้านผลิตบุคลากร ทำหน้าที่ทำการวิจัย, พัฒนาเทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมใหม่ สมาคมการค้ายางพาราจังหวัดบึงกาฬ, สันนิบาตสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ, สภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งรวบรวมวัตถุดิบยางพารา พัฒนาวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มมูลค่ากลางน้ำและปลายน้ำให้ได้มาตรฐาน มอก. ชุมชน, จัดฝึกอบรมให้ความรู้เกษตรกร, หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและจัดหาตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้เกษตรกรชาวสวนยาง
สถาบันวิชาการ วี – เซิร์ฟ มีหน้าที่ช่วยให้ความรู้และอบรมในด้านโลจิสติกส์สินค้ายางที่จะส่งออกหรือนำเข้าแก่เครือข่ายเกษตรกร บริษัท กนกโปรดักส์ จำกัด และบริษัท พิพัฒนกลการ จำกัด ทำหน้าที่ให้ความร่วมมือในด้านการตลาดทั้ง 2 ประเทศ ให้เครือข่ายเกษตรกรทำผลิตภัณฑ์ยางตามที่ตลาดต้องการ และร่วมมือในการเสนอโจทย์วิจัยผลิตภัณฑ์ยาง ความต้องการของตลาด บริษัท เอเชียเกียริ่ง จำกัด ทำหน้าที่ให้ความร่วมมือในการผลิตเครื่องจักรกล ที่ใช้กับอุตสาหกรรมยางให้ทันสมัยและลดต้นทุน โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการพัฒนาเครื่องจักรกลที่ใช้กับยาง วิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียน ทำหน้าที่ให้ความร่วมมือในการให้ความรู้ด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำผลิตภัณฑ์รองเท้าจากยางพารา
ส่วนการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ให้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งได้มีการกำหนดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาว่า สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิอื่นใดของผลงาน สิ่งประดิษฐ์ ระบบฐานข้อมูล โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ข้อมูลการรายงานการศึกษาวิเคราะห์ คู่มือ เอกสาร หรือสิ่งอื่นใดที่มีอยู่เดิมของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และได้นำมาใช้ในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ย่อมเป็นของฝ่ายนั้น หากอีกฝ่ายประสงค์จะใช้สิทธิในผลงานเดิมของอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ประสงค์จะใช้สิทธิในผลงานเดิมนั้นจะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากฝ่ายที่เป็นเจ้าของผลงานเดิมนั้นก่อน สำหรับสิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิอื่นใดที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นจากการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ให้ทุกฝ่ายร่วมกันพิจารณาและกำหนดสิทธิหน้าที่ในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นรายกรณีไป ในแต่ละข้อตกลงหรือสัญญาที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตามหากมีการยกเลิกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ สามารถกระทำได้โดยฝ่ายที่ประสงค์จะยกเลิกให้บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยให้ถือว่าข้อตกลมเป็นอันสิ้นผลในวันที่ระบุไว้ในหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าดังกล่าว แต่ในแต่ละฝ่ายยังคงมีสิทธิหน้าที่ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน สำหรับการดำเนินการใดๆที่ได้กระทำลงไปในระหว่างที่บันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้อยู่และการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากทุกฝ่าย