รมว.เกษตรฯ ไขลานข้าราชการในสังกัดอีกรอบ แนะ 9 แนวทาง ในการทำงานตามภารกิจและบทบาทใหม่ ให้ครอบคลุมทั้งงานด้านการส่งเสริม การสนับสนุนการผลิต การประสานงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร หวังแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้กำหนดให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในพื้นที่และในส่วนกลางได้ปรับภารกิจและบทบาทใหม่ให้ครอบคลุมทั้งงานด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต และงานด้านการประสานงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายผลผลิตหรือมีตลาดรองรับผลผลิต ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำที่ทำให้เกษตรกรมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือและสนับสนุนงบประมาณจำนวนมากในการพยุงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบโครงการต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาภาระการเงินและการคลังของประเทศนั้น จึงได้ทบทวนแนวทางและวิธีการทำงานดังกล่าว ดังนี้
1) ขอให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดร่วมกับเกษตรจังหวัดขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) ตามพ.ร.บ. เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 เพื่อชี้แจงแนวทางการทำงานตามภารกิจและบทบาทใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้พิจารณาสนับสนุนแนวทางการทำงานดังกล่าว ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนในจังหวัดมากขึ้น รวมทั้งอาจสนับสนุนงบประมาณพัฒนาจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการและหรือจากองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) มาใช้สนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจและบทบาทใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ ภายในจังหวัดได้ด้วย
2) เนื่องจาก อ.พ.ก. มีองค์ประกอบที่มาจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน จึงขอให้ใช้การประชุม อ.พ.ก. ในการตกลงกันเพื่อจัดกลุ่มงานและมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปปฏิบัติในรูปคณะทำงานเฉพาะกิจ ดังนี้ 2.1 คณะทำงานการส่งเสริม สนับสนุนการผลิต และจัดทำข้อมูลด้านการผลิต มีหน้าที่ในการวางแผนการผลิตและส่งเสริมรวมทั้งการสนับสนุนการผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ตามความต้องการของตลาด โดยมอบหมายให้เกษตรจังหวัด/ปศุสัตว์จังหวัด/ประมงจังหวัด เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ พัฒนาที่ดิน/ชลประทาน/ปฏิรูปที่ดิน/ศูนย์หรือสถานีในสังกัดกรมวิชาการเกษตร/กรมการข้าว/กรมฝนหลวงและการบินเกษตร/กรมหม่อมไหม ซึ่งมีที่ตั้งในพื้นที่เป็นหน่วยสนับสนุนในการส่งเสริมและวางแผนรวมทั้งการสนับสนุนการผลิตด้วย และ 2.2 คณะทำงานการประสานงานด้านการตลาด มีหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรของตลาด
รวมทั้งแนะนำและอำนวยความสะดวกหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนให้เข้ามาซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยมอบหมายให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด/สหกรณ์จังหวัดและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 เขต ทำหน้าที่ประสานงานกับ พณ./นพ.สสจ./ผอ.ทัณฑสถาน/ผู้บริหารสถาบันการศึกษา/ผบ.กกล.ทหาร&ตำรวจและภาคเอกชน เช่น หอการค้า/สภาอุตสาหกรรม/ห้างสรรพสินค้า (Modern Trade)/ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของกลุ่มค้าปลีกเอกชน (DC)/ผอ.นิคมอุตฯ/เจ้าของโรงงานที่มีคนงานจำนวนมาก เพื่อให้พิจารณารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรไปใช้ในหน่วยงานหรือนำไปจำหน่ายในตลาดภายในประเทศหรือส่งออกต่างประเทศด้วย
3) ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงานตามภารกิจใหม่นี้ ขอให้เกษตรจังหวัดได้แนะนำและประสานงานให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกรสมัยใหม่ ที่เป็นบุตรหลานของเกษตรกรในพื้นที่และผ่านการอบรมจากสำนักเกษตรจังหวัดแล้วให้เข้ามามีบทบาทร่วมในการทำหน้าที่ทั้งฝ่ายส่งเสริมการผลิตและฝ่ายประสานงานระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับหน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชนที่เข้ามารับซื้อผลผลิตในพื้นที่ด้วย
4) ในการทำงานตามภารกิจและบทบาทข้างต้น เมื่อ อ.พ.ก. สามารถประสานและเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายเกษตรกรผู้ผลิตกับฝ่ายการตลาดได้แล้ว อาจจะพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ให้สอดคล้องหรือสนองตอบต่อนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” รวมทั้งการนำมาขยายผลหรือต่อยอดโครงการและแผนงานการเกษตรสำคัญ ๆ ดังนี้
4.1 ขอให้คณะทำงานการส่งเสริม สนับสนุนการผลิต และจัดทำข้อมูลด้านการผลิต แนะนำเกษตรกรทำการเกษตรหรือผลิตตามความต้องการของตลาด หรือผลิตให้ได้ตามคุณสมบัติที่ผู้รับซื้อกำหนด เช่น การเกษตรปลอดภัย (GAP) หรือเกษตรอินทรีย์ (Organic) หรือในกรณีที่ผู้ซื้อหรือตลาดต้องการสินค้าเกษตรจำนวนมากและตกลงทำสัญญารับซื้อระยะยาวก็อาจสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำการเกษตรในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ หรือใช้เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ทำเกษตรแม่นยำ เข้ามาใช้ในกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต
และ 4.2 ขอให้คณะทำงานการประสานงานด้านความต้องการของตลาด พิจารณาว่าหากมีกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มและหรือมีการผลิตได้จำนวนมากก็ให้แนะนำหรือประสานงานกับภาคเอกชนให้เข้ามาตั้งโรงงานรับซื้อผลผลิตหรือตั้งโรงงานแปรรูปหรือโรงถนอมอาหารภายในพื้นที่ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดและหรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในพื้นที่ให้เข้าไปพิจารณาสนับสนุนทุนในรูปเงินกู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรเพื่อขยายการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการของตลาดที่มากขึ้นด้วย
5) เมื่อกลุ่มเกษตรกรเริ่มมีความเข้มแข็งหรือผลผลิตเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นแล้ว ขอให้สหกรณ์จังหวัดเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรรวมตัวกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้มีตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรเข้ามาทำหน้าที่ในการติดต่อเพื่อขายผลผลิตกับภาคเอกชนโดยตรงแทนหน่วยงานรัฐต่อไป
6) ขอให้ที่ประชุม อ.พ.ก. จังหวัด นำข้อมูลที่ได้จากคณะทำงานเฉพาะกิจในข้อ 2.1 และ 2.2 ประเมินสถานการณ์และปัญหาการเกษตรของพื้นที่ในด้านต่าง ๆ เพื่อพิจารณาว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตทางการเกษตรของพื้นที่การเกษตรที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ โดยใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนที่เกษตร (Agri-Map) หรือลดการทำเกษตรเชิงเดี่ยวไปทำการเกษตรแบบผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริหรือลดการทำเกษตรกรรมจากชนิดหนึ่งไปทำการเกษตรชนิดใหม่ ที่เป็นความต้องการของตลาดเพื่อลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด เช่น ลดพื้นที่สวนยางพาราหรือสวนปาล์ม ไปปลูกกล้วยหอม กาแฟ หรือพืชผัก แซมระหว่างแถวต้นยางพารา หรือต้นปาล์ม หรือลดพื้นที่การทำนาปรัง ไปปลูกพืชตระกูลถั่วหรือข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ตลาดต้องการ เป็นต้น
7) มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดกลุ่มงานและมอบหมายภารกิจให้สำนักงานปลัด/กรมหรือหน่วยงานเทียบเท่าและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจรวมทั้งองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับภารกิจงานในพื้นที่ เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานอำนวยการและสนับสนุนการทำงานในระดับพื้นที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้แบ่งเป็นกลุ่มงาน คือ 7.1 กลุ่มงานการวางแผน ส่งเสริม สนับสนุน และรายงานสถานการณ์การผลิตทางการเกษตร ทำหน้าที่อำนวยการวางแผน ส่งเสริม สนับสนุน และรายงานสถานการณ์การผลิตของประเทศ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ และ 7.2 กลุ่มงานการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และอำนวยความสะดวก รวมทั้งการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ทราบแนวโน้มราคาและความต้องการสินค้าเกษตรของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และหรือมารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรและหรือกลุ่มเกษตรกรโดยตรงในราคาที่เป็นธรรมและยั่งยืน
8) ขอให้คณะทำงานเฉพาะกิจในข้อ 2.1 และ 2.2 ที่มอบหมายโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) และกลุ่มงานส่วนกลางในข้อ 7.1 และ 7.2 รายงานข้อมูลความก้าวหน้าและสถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดทั้งหมดให้กับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ออกแบบรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลและเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้สามารถนำข้อมูลทั้งหมดมาใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างทันท่วงที
9) มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกเขต ติดตามการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ว่าได้ดำเนินการตามภารกิจข้างต้นไปแล้วอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะภารกิจตามข้อ 1 และข้อ 2 นั้น ขอให้ตรวจสอบและกำชับเป็นรายจังหวัดว่าหน่วยงาน กษ. ทุกจังหวัดต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2562 ให้ได้