รัฐมนตรีเกษตรฯ เผยข้อเรียกร้องของกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทยใน 3 ประเด็น ให้รแก้กฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯ ได้มีการลงนามเพื่อแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ชี้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเรียกร้องจะทำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร และจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานให้เกิดประโยชน์ ในด้านการส่งเสริมพัฒนาอาชีพอย่างแท้จริง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) นำโดยนายยศวัศจ์ ชัยวัฒนสิริกุล ประธานที่ปรึกษาสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ได้นำกลุ่มมวลชน ประมาณ 500 คน มาติดตามข้อเรียกร้องที่ได้แจ้งไว้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1. ขอให้แก้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 3 มาตรา, 2. ขอให้ออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ 3. ขอให้ออกคำสั่งคณะทำงานการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา
จากข้อเรียกร้องดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องครบถ้วนทั้ง 3 ประเด็น โดยข้อเรียกร้องประเด็นที่ 1 การแก้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 3 มาตรา ได้มีการลงนามถึงรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุรพิทักษ์) เพื่อให้ความเห็นชอบและดำเนินการการต่อไป ส่วนประเด็นที่ 2 และ 3 ได้ลงนามในคำสั่งและประกาศ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้กฎหมายกองทุนฟื้นฟูทั้ง 3 มาตราดังกล่าว จะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ และจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฟื้นฟูฯได้มากขึ้น
ดังนั้นจึงได้เห็นชอบและลงนามในตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรา 16 แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนเกษตรกร เพิ่มจาก 2 ปีเป็น 4 ปี ทำให้คณะกรรมการสามารถทำงานได้ยาวนานขึ้น และประหยัดงบประมาณในการเลือกตั้งได้เป็นจำนวนมาก มาตรา 23 แก้ไขที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสาขาจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจัดหาที่ตั้งของสำนักงานได้ตามความจำเป็นมากขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ.เดิมกำหนดไว้ว่าจะต้องมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น และมาตรา 37/9 ปรับปรุงแก้ไขวิธีการชำระหนี้แทนเกษตรกร กรณีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และบุคคลค้ำประกัน ให้กองทุนสามารถซื้อหนี้ที่มีบุคคลค้ำได้ด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สำหรับระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ก็จะสามารถใช้ในการเสนอโครงการส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกกองทุน เพื่อเพิ่มรายได้ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และในส่วนของคำสั่งคณะทำงานการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามมติ ครม.วันที่ 7 เมษายน 2553
มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสมาชิก กฟก.จำนวน 3,000 กว่าราย ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือภายใต้มติดังกล่าว แต่หมดระยะเวลาของโครงการ และกำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมีความพึงพอใจในการเร่งรัดแก้ปัญหาและดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมที่จะเร่งดำเนินการดังกล่าวเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องเกษตรกร