โดย…ดลมนัส กาเจ
“ในตอนแรกที่เราลงพื้นที่เก็บข้อมูล เราพบว่าปัญหาของผลิตภัณฑ์โอทอปในพื้นที่ไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพไม่ค่อยดี สมาชิกขาดองค์ความรู้ที่จะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีปัญหาทั้งการผลิตและการตลาด ทางโครงการจึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาให้ความรู้ ปรับปรุงแก้ไขในด้านที่ยังขาดตกบกพร่อง เพิ่มช่องทางการตลาด ด้านตลาดออนไลน์ แนะนำการทำตลาดบนมือถือ ทั้งเพจและเฟสบุ๊ค ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น”
ในที่สุด“โครงการขับเคลื่อนหนึ่งตำบลหนึ่ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ที่ลงพื้นที่บริการด้านวิชาเพื่อผลิตภัณฑ์ชุมชนใน ต.สาลิกา อ.เมือง จ.นครนายก เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปให้สูงขึ้น อย่างน้อย 1 ระดับคือจากโอท็อบ 1 ดาวสู่โอทอป 2 หรือ 3 ดาว และให้สูงขึ้นต่อไปนั้น สามารถผลักดันและพัฒนา 6 ผลิตภัณฑ์ “ไม้กวาด-สบู่ฟักข้าว-แปรรูปผ้าเป็นพวงกุญแจและกระเป๋า-กิ่งพันธุ์มะยงชิด-นมควาย-บริการโฮมสเตย์” สู่ดวงดาวที่สูงขึ้น (โอทอปหลายดาว) จนประสบผลสำเร็จเป็นไปตามเป้า และเน้นการตลาดให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ ล่าสุดได้ทำการเปิดตัวผลิตภัณพ์อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วโดยมีนายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกเป็นประธาน
รศ.ดร.จิตราภา กุณฑลบุตร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวว่า โครงการขับเคลื่อนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร (มรภ.พระนคร) ที่ไปบริการด้านวิชาเพื่อผลิตภัณฑ์ชุมชนใน จ.นครนายกนั้น เป็นในโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.ที่ดำเนินการตามพระบรมราโชบาย ของในหลวงรัชกาลที่10 ที่ต้องการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ให้มีความอยู่ดี กินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้นำศาสตร์พระราชามาเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการ และมอบหมายให้ มรภ.ทั่วประเทศเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น
เป็นโครงการที่เริ่มพัฒนาตั้งแต่บุคลากร คือพัฒนาครู อาจารย์ พัฒนาด้านการศึกษา บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนให้ดีขึ้น โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา สำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งเป็นงบของมหาวิทยาลัยและงบสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มาสนับสนุนงานวิจัยเพื่อชุมชน เป็นงานบริการทางวิชาการ โดยการนำคณะอาจารย์และนักศึกษาลงมาเรียนรู้ในพื้นที่จริงและนำผู้เชียวชาญแต่ละสาขาอาชีพมาให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้กับชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงการหาแนวร่วมมาช่วยปรับปรุงและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปให้สูงขึ้น
“โครงการนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ พัฒนาชุมชน หน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณะสุข และองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้ผลิตภัณฑ์โอทอปของท้องถิ่น มีคุณภาพสูงขึ้น มีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย สวยงามยิ่งขึ้น ซึ่งในจังหวัดนครนายก ทาง มรภ.พระนคร ได้เลือกพื้นที่ของ ต.สาริกา อ.เมือง เป็นพื้นที่นำร่องโครงการ โดยมี อาจารย์กนกพิชญ์ วิชญวรนันท์ จากสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม เป็นหัวหน้าผู้ดำเนินโครงการ และ ดร.พัฒนพงษ์ จันทร์ควง คณบดีคณะวิทยาการจัดการ เป็นที่ปรึกษาโครงการ”รศ.ดร.จิตราภา กล่าว
ด้าน อาจารย์กนกพิชญ์ กล่าวว่า หลังจากที่ มรภ.พระนคร ได้มอบหมายให้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 จึงเลือกพื้นที่ของ ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก เป็นพื้นที่นำร่อง และได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ในชุมชนเพื่อผลักดันสู่ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ให้สูงขึ้น 6 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไม้กวาด ผลิตภัณฑ์สบู่ฟักข้าว ผลิตภัณฑ์แปรรูปผ้าเป็นพวงกุญแจและกระเป๋าสตางค์ ผลิตภัณฑ์เกษตรกิ่งพันธุ์มะยงชิดผลิตภัณฑ์นมควาย และบริการโฮมสเตย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปให้สูงขึ้น อย่างน้อย 1 ระดับ และให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
“ในตอนแรกที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เราพบว่าปัญหาของผลิตภัณฑ์โอทอปในพื้นที่ไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพไม่ค่อยดี สมาชิกขาดองค์ความรู้ที่จะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีปัญหาทั้งการผลิตและการตลาด ทางโครงการจึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาให้ความรู้ ปรับปรุงแก้ไขในด้านที่ยังขาดตกบกพร่อง เราเริ่มตั้งแต่การร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น พัฒนาบรรจุภัณฑ์ มีผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบจากกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาช่วย เพิ่มช่องทางการตลาด ได้รับความร่วมมือจากพัฒนาชุมชน และนำผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดออนไลน์ มาให้ความรู้แนะนำการทำตลาดบนมือถือ ทั้งเพจและเฟสบุ๊ค ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจต่อเนื่องที่ทาง มรภ.พระนคร จะยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปของ ต.สาริกาให้ดียิ่งๆขึ้นไปและจะขยายผลไปยังตำบลอื่นๆต่อไป” อาจารย์ กนกพิชญ์ กล่าว
ขณะที่ ดร.พัฒนพงษ์ จันทร์ควง ในฐานะที่ปรึกษาโครงการได้กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เบื้องต้นถือว่าสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ แต่โครงการไม่ได้หยุดแค่นี้ ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและให้ดียิ่งๆขึ้นไป ซึ่งงานวิจัยเพื่อชุมชนที่ทาง มรภ.พระนคร ดำเนินการอยู่ทุกโครงการ จะตระหนักถึงสำนึกความรับผิดชอบต่อ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น
“เราทำภารกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เป็นภัยกับสังคม ผลิตภัณฑ์ที่เราเข้าไปสนับสนุนให้ยกระดับมาตรฐาน นอกจากจะได้มาตรฐานและคุณภาพที่สูงขึ้นแล้ว แพคเกจสวยงามขึ้นแล้ว จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคตอบสนองการพัฒนาด้านต่างๆ รองรับผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนจากต่างถิ่นได้ ความสำเร็จในครั้งนี้ไม่เฉพาะกลุ่มโอทอป หากแต่ประโยชน์ยังย้อนกลับมาทางคณะอาจารย์และนักศึกษาของทางมหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้จริง เป็นการฝึกประสบการณ์จากของจริง ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จในหลากหลายมิติ และในอนาคตก็จะขยายผลไปยังบุตรหลานของสมาชิกกลุ่มโอทอป ที่จบ ม.ปลายได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี กับทาง ม.ราชภัฏพระนคร แบบเรียนฟรี ซึ่งจะมีการกำหนดระเบียบ กติกาและดำเนินการในขั้นต่อไปในเร็วๆนี้” ดร.พัฒนพงษ์ กล่าว
นับเป็นอีกโครงการดีๆที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ดำเนินการไปตามพระบรมราโชบาย ของในหลวงรัชกาลที่10 ที่หวังจะแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ให้มีความอยู่ดี กินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และหวังเป็นอย่างว่าโครงการดีๆแบบมีตามมาอีกหลายชุมชนในประเทศไทยที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดต่อไป