อียูไฟเขียวงบฯ 2.4 ล้านยูโรหนุ่นยกระดับขนส่งสินค้า-โลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

  •  
  •  
  •  
  •  

         ผู้แทนร่วมประชุม(จากซ้าย) นางสุทธิยา จันทวรางกูร เจ้าหน้าที่โครงการ สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นางสาวรัตนา อิทธิอมร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก, นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมการขนส่งทางบก, นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, มร. ทิม มาเลอร์ ผอ.องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย, นางสาวคาโรลิน คาโพน ผอ.โครงการ GIZ,นางสาววิลาสินี ภูนุชอภัย ผอ.ร่วมโครงการ GIZ

สหภาพยุโรป ไปเขียวสนับสนุนเงินทุน 2.4 ล้านยูโร สำหรับโครงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อดำเนินงานด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความปลอดภัยในภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนามและไทย เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กว่า 500 ราย ให้สามารถประหยัดเชื้อเพลิงและเกิดการขับขี่ มีระบบการขนส่งสินค้าอันตรายที่ปลอดภัย หวังพัฒนาแผนธุรกิจสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการขนส่งสีเขียว

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินงาน (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 – มกราคม 2562) โครงการได้ฝึกอบรม SMEs จำนวน 513 รายในภูมิภาคซึ่งครอบคลุมพนักงานขับรถบรรทุกมากกว่า 600 คน ส่งผลให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยร้อยละ 15.90 สำหรับรถหนักวิ่งเปล่าและร้อยละ 16.86 สำหรับรถหนักบรรทุกสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าอันตรายโครงการฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงคมนาคมของประเทศเป้าหมายต่างๆเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบและข้อบังคับ ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของประเทศเมียนมาสามารถออกกฏกระทรวงได้ทั้งหมด6 ฉบับอย่างเป็นทางการ


          ขณะที่กระทรวงของประเทศเวียดนามกัมพูชาและสปป. ลาวกำลังแก้ไขพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าอันตรายในแง่ของการสนับสนุนนโยบายโครงการฯ ยังได้สนับสนุนกระทรวงคมนาคมของประเทศเวียดนามในการพัฒนาคู่มือมาตรฐานสำหรับการขนส่งสินค้าสีเขียวและได้ประกาศใช้แล้วเมื่อเดือนสิงหาคมพ.ศ.2561 นอกจากนี้มาตรการด้านการขนส่งสินค้าสีเขียวยังถูกนำเสนอในวาระ“การมีส่วนร่วมของประเทศ” (NDC) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศไทย และยังถูกหยิบยกมากล่าวเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งที่ 24 ของ ภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP24)ด้วย
            ล่าสุด นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวในพิธีปิดโครงการซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและสหภาพยุโรปณ โรงแรมฮิลตัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ว่า การคมนาคมขนส่ง ถูกยอมรับว่าเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาและบูรณาการเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เพราะการคมนาคมขนส่งมีบทบาทสำคัญในการขนย้ายสินค้าบริการและประชาชน นอกจากนี้ การคมนาคมขนส่ง ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ความพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาถูกดำเนินการผ่านข้อตกลงและกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคเช่นความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งของอาเซียนซึ่งโครงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้ให้การสนับสนุน 5 ประเทศเป้าหมายในการดำเนินงานตามข้อตกลงและกรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยเอง ก็มุ่งดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์อย่างยั่งยืนเช่นการขับขี่ที่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน การขนส่งสินค้าอันตรายให้ปลอดภัยและการพัฒนามาตรฐานสำหรับการให้บริการรถบรรทุก


            นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามวาระการประชุมระดับโลกของข้อตกลงปารีสที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ร้อยละ 20 เนื่องจากภาคคมนาคมขนส่งถือว่าเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับต้นๆ ความพยายามของเราในการลดการใช้เชื้อเพลิงและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ จึงช่วยสนองต่อของความมุ่งมั่นในวาระระดับโลก
          ด้าน เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า แผนงานSWITCH-Asia เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินของสหภาพยุโรปที่จะสนับสนุนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ให้มีการส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนและจนถึงปัจจุบันมีโครงการจำนวนกว่า 100 โครงการที่ได้รับเงินทุนนี้แล้ว ด้วยการสนับสนุนเงินทุนของสหภาพยุโรปจำนวน 2.16 ล้านยูโรโครงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นับว่าประสบผลสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงด้วยการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของ SMEs ด้านการขนส่งส่งผลให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงโดยรวมเฉลี่ยร้อยละ 16 และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย นอกจากนี้โครงการฯ ยังให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกระทรวงคมนาคมทั้ง 5 ประเทศในการปรับปรุงกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าอันตราย ผลลัพธ์ที่น่าพอใจเหล่านี้ เกิดจากความร่วมมือที่ดีจากพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ SMEs ด้านการขนส่งสินค้าและสมาคมการขนส่งต่างๆ

         สำหรับแนวทางการปฏิบัติที่ดีและบทเรียนที่ได้จากการดำเนินโครงการจะถูกนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อพัฒนาการขนส่งสินค้าที่ยั่งยืนในภาคการขนส่งให้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโครงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 2.4 ล้านยูโร จากแผนงาน SWITCH-Asia ของสหภาพยุโรปและจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินงานหลักและได้รับความ ร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (MI) สมาคมขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS-FRETA) รวมถึงโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบกของภูมิภาคอาเซียนของ GIZ