ในพื้นที่ ต.สร่างโศก อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี นับแหล่งใหญ่ที่เกษตรกรผลิต “ผักหวานป่า” ทำให้ช่วงบางฤดูกาลเกิดภาวะล้นตลาด ราคาตกต่ำ ทางสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี ยื่นมือช่วยเหลือด้วยการให้ชาวบ้านรวมตัวตั้ง “กลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า” เอายอดผักหวานป่ามาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ พบว่า “ทองม้วนผักหวานป่า” กลิ่นหอม รสกลมกล่อม ไม่หวานมาก มัน กรอบขายดีมากจนผลิตไม่ทัน เช่นดียวกับ “น้ำผักหวานป่าพร้อมดื่ม” ยอดขายปีละกว่า 2 หมื่นขวด
จันทนา มณีโชติ ตัวแทนในฐานะสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า ต.สร่างโศก อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี บอกว่า กลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2559 มีสมาชิกทั้งหมด 15 คน เนื่องจากในพื้นที่ ต.สร่างโศก อ.บ้านหมอ มีพืชประจำถิ่นขึ้นชื่อ คือ “ผักหวานป่า” เป็นพืชยืนต้น อายุยืนนานไม่ต้องดูแลมากนัก ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ในระยะยาวนาน ปลูกร่วมกับข้าวโพด มันแกว หรือพืชผักอื่นๆ และด้วยลักษณะดิน สภาพพื้นที่และสภาพอากาศเหมาะสมในการปลูก ในขณะที่อำเภอใกล้เคียงไม่สามารถปลูกได้ เนื่องจากมักจะประสบปัญหาจากน้ำท่วมขังและการบำรุง
เดิมนั้น จันทนา บอกว่า ชาวบ้านมักจะเก็บยอดสดไปจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท แต่บางฤดูกาลผลผลิตมีปริมาณมาก ทำให้ราคาลดลงไม่คุ้มต้นทุนค่าปลูก แม้ว่าผักหวานป่าจะสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู เช่น แกงเลียง แกงจืด แกงส้ม ทอดกรอบ ชุบไข่และยังนิยมนำผักหวานมาแกล้มอาหารรสจัดจำพวกส้มตำและลาบ หรือจิ้มกับแจ่วและน้ำพริกได้ทุกชนิด แต่เมื่อผลผลิตมีมากราคาตกต่ำ
ดังนั้นทางกลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า ได้นำยอดผักหวานป่าที่ผลิตได้ในตำบลและได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด แต่ที่ยอดขายดีคือ ทองม้วน มีกำลังการผลิต 5,000 ถุง/ปี ผูกมัดใจลูกค้าด้วยความหอม กลมกล่อม ไม่หวานมาก มัน กรอบ ไม่แตกหักง่าย ซึ่งช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาผลิตไม่พอขาย
นอกจากนี้น้ำผักหวานป่าพร้อมดื่ม กำลังการผลิต 20,000 ขวด/ปี รสชาติหวานกำลังดี หอม ชุ่มคอ ดับกระหาย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์กลุ่มฯที่ยอดจำหน่ายไม่น้อยหน้า คือข้าวเกรียบและชาผักหวานป่า ซึ่งกำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์กลุ่มฯจะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต
ด้าน อรอนง ขำวงษ์ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี เล่าว่า เมื่อปี 2559 สภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรีได้เข้าไปที่กลุ่มนี้ให้เกษตรกรได้เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มกัน จัดตั้งและขึ้นทะเบียนกลุ่มเกษตรกร พร้อมกับประสานนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้องค์ความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์ ปี 2560 พาสมาชิกและผู้นำกลุ่มเข้าอบรมโครงการ Start Up เปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรกับสภาอุตสาหกรรม
ส่วนในปี 2561 เร่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มด้วยการประสานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อสนับสนุนเตาชีวมวลประหยัดพลังงานให้กับกลุ่ม ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มผลิตผักหวานป่ามีคุณภาพ มาตรฐาน GAP ทุกคน ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของ “กลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า” ปลอดภัยแน่นอน
สำหรับประโยชน์ของผักหวานป่า คนโบราณนิยมนำมาทำยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคได้หลายชนิด ใบและรากมีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ รากเป็นยาฤทธิ์เย็นแก้ไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก่นของต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้อาการปวดตามข้อ และอื่นๆ
“ผักหวานป่า” เป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน พลังงาน วิตามินเอ ซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก อีกทั้งยังมีปริมาณของเส้นใยอาหารอยู่พอสมควรจึงช่วยในการขับถ่ายได้ดี และเป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น เบตาแคโรทีน และสารประกอบฟีนอลิก เป็นต้น
ผู้ที่รักสุขภาพทุกช่วงวัย สนใจผลิตภัณฑ์จากผักหวานป่า ของกลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปผักหวานป่า จ.สระบุรี สามารถสั่งซื้อที่จันทนา มณีโชติ โทรศัพท์ 08 – 7129 – 6207 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 036 – 713 – 311