ปีหน้ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินสายให้ความรู้เรื่องเขตการค้าเสรีให้เกษตรกร ชี้ภาคเกษตรคือหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ นำร่องที่อุดรธานี ก่อนจัดต่อเนื่องครบ 6 จังหวัดภายในกลาง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือพันธมิตรสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 1” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี โดยเดินสายให้ความรู้แก่แกษตรกร สร้างการรับรู้ถึงการค้าเสร (FTA) ที่มีผลต่อภาคการเกษตรอย่างมากในปัจจุบัน
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นพื้นฐานสำคัญของการส่งออกประเทศไทย มูลค่าการส่งออกสูงถึง 15 ล้านล้านบาท เกษตรกรไทยจึงมีความสำคัญต่อภาคการส่งออกอย่างมาก และในอนาคตจะมีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น
“กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่เกษตรกรไทยเพราะถือเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเพิ่มศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น นำไปสู่การเติบโตของประเทศในระยะยาว ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี การใช้ประโยชน์ และการรองรับผลกระทบจาก FTA อย่างต่อเนื่อง” นายดวงอาทิตย์ กล่าว
โครงการครั้งนี้มีการจัดเสวนา และ Workshop ให้ความรู้แก่เกษตรกรใน 2 เรื่อง คือ 1.”ช่องทางรวยของสินค้าเกษตร จาก FTA” 2.”ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมเสวนากว่า 100 คน จากจังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ โดยไฮไลท์สำคัญได้มีการเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าเกษตรที่เป็นที่ต้องการของตลาด การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างวิทยากร ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ในการเสวนาครั้งนี้
นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังได้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกร 5 แห่ง จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ กลุ่มบ้านนาเมืองสมุนไพร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนยางพาราบ้านโนนบก กลุ่มวิสาหกิจกล้วยหอมทอง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วง และตลาดผ้าบ้านนาข่า
ด้านนางสาวบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาความพร้อมทางการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ทาง กรมเจรจาฯ ร่วมกับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่ตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยที่แรก คือ อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี กลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าที่มุ่งเน้น คือ สมุนไพร ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีสรรพคุณทางยารักษาโรค ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ซึ่งในส่วนเกษตรกรเองยังคงต้องการองค์ความรู้ เพื่อจะนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร่วมถึงการส่งเสริมด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
“ปัจจุบัน กรมเจรจาฯ ได้มีการเจรจาการค้าแล้ว 12 ฉบับ รวมถึงประเทศในอาเซียน ในส่วนนี้จะเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะผลิตสินค้าออกสู่ตลาดใหม่ แต่เกษตรกรต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของตน ให้มีประสิทธิภาพจนเป็นที่ยอมรับ ฉะนั้นสิ่งสำคัญ คือ การให้ความรู้แก่เกษตรกรพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่างๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมที่จะสามารถแข่งขันกับตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ” นางสาวบุณิกา กล่าว
การร่วมมือกันระหว่างกรมเจรจาการค้าฯ กับ สภาเกษตรกรครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยสร้างมูลค่า และยกระดับสินค้าเกษตรในชุมชนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกโดยเฉพาะตลาดอาเซียน และที่สำคัญยิ่งคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง
ทั้งนี้กรมเจรจาการค้าฯ ได้เริ่มโครงการครั้งแรกที่ จังหวัดอุดรธานี และในปี 2562 จะมีการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรอีก 5 ครั้ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ