ปลูกมะพร้าวน้ำหวานแกะกะลาอ่อนขาย กก.ละ 1,000 บาท

  •  
  •  
  •  
  •  

           “มะพร้าว 50 ผล เมื่อฝานเนื้อกะลาอ่อนเสร็จแล้ว ก็จะได้ผลผลิตกะลามะพร้าวอ่อนพร้อมนำไปปรุงทำเป็นอาหารได้ประมาณ 2 กิโลกรัม นำมาขายในราคา กิโลกรัมละ 1,000 บาท โดยมีลูกค้าหลักที่สั่งจองคือร้านอาหารย่านถนนสาธร”

           แม้ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวทั้งมะพร้าวแกง มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวน้ำหวาน กำลังประสบกับมรสุมราคาผลผลิตตกต่ำ อันเนื่องจากส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลชุดนี้มีการอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวจากประเทศ แต่ด้วยการตื่นตัวของเกษตรกรที่ถึงเวลา “ต้องเปลี่ยน” มาเป็นผู้ประกอบการเกษตร อย่าง อภิญญา ทิพนาค (ป้าแป๊ด) วัย 54 ปี ผู้ปลูกมะพร้าวแห่งชุมชาบ้านตะเคียนเตี้ยว ต.ตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นำกะลามะพร้าวอ่อนมาแปรรูปทำเป็นชิ้นๆ สำหรับนำทำเป็นอาหารอาหารเมนูเด็ด ขายในราคากิโลกรัมละถึง 1,000 บาท มีออร์เดอร์ล้นมือจนผลิตไม่ทันต่อความต้อง

           อภิญญา บอกว่า ปลูกมะพร้าวพันธุ์หมูสีซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งเดิมทีมะพร้าวหมูสีเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของที่นี่เป็นพันธุ์กินผลอ่อน น้ำมีรสชาติหวานแต่ไม่หอม มีลักษณะที่รอบหัวจุกผลมะพร้าวจะเป็นสีขาวเมื่อดึงขั้วจุกออกจะมีสีชมพูยังไม่มีเนื้อมะพร้าว ข้างในเป็นกะลาอ่อนรสชาติอร่อนคือ กรอบ กรุบ  มัน หวานอ่อน และหอม  ส่วนมะพร้าวที่มีอ่อน อร่อย สังเกตุคือหากรอบขั้วจุกมะพร้าวเป็นสีเขียวจะมีเนื้อมะพร้าว ใช้สำหรับกินเนื้อมะพร้าวอ่อนจะไม่สามารถนำกะลามากินได้ เพราะจะมีรสฝาด

            “คนในชุมชนตะเคียนเตี้ยกินกะลามะพร้าวอ่อนกันมานานแล้ว บางส่วนก็ขายเป็นมะพร้าวกินผลอ่อนส่วนการนำมะพร้าวอ่อน เพื่อนำกะลามาบริโภคเป็นอาหาร ตอนนี้ราคาขายอยู่ที่ผลละ 25-30 บาท ซึ่งกะลามะพร้าวอ่อนจะเก็บได้เมื่อลูกมะพร้าวออกทะลาย 2-3 เดือน ภายใน 1 ปีจะมีผลผลิต 12 ทะลายต่อต้น หากเป็นมะพร้าวที่แก่กว่านี้ราคาขายอยู่ที่ผลละ 4-5 บาทเท่านั้น ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆแทน ในส่วนของกะลาอ่อนมาพร้าวที่แปรรูปเพื่อจำหน่าย ตอนนี้ มีขายทุกวันและมียอดสั่งจองทุกวันเช่นกัน” อภิญญา เล่าถึงการบริโภคมะพร้าวพันธุ์หมูสีของชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย

              ในการผลิตกะลามะพร้าวอ่อนเพื่อการบริโภคนั้นจะนำส่วนกะลาที่ยังอ่อน โดยใช้ช้อนงัดออกมาจากเปลือกหุ้ม แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ  มะพร้าว 50 ผลเมื่อฝานเนื้อกะลาอ่อนเสร็จแล้ว จะนำแช่ในน้ำที่หมักด้วยน้ำมะนาวที่ผสมกับน้ำตาลทรายแดง ป้องกันไม่ให้จะลามะพร้าวอ่อนเป็นสีคล้ำ ก็จะได้ผลผลิตกะลามะพร้าวอ่อนพร้อมนำไปปรุงทำเป็นอาหารได้ประมาณ 2 กิโลกรัม นำมาขายในราคา กิโลกรัมละ 1,000 บาท โดยมีลูกค้าหลักที่สั่งจองคือร้านอาหารย่านถนนสาธร และอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯจนผลิตไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนตะเคียนเตี้ย มักจะสั่งเมนูคือ แกงไก่กะลา , ผัดฉ่ากะลาอ่อนใส่กุ้ง สูตรท้องถิ่นด้วย

          ส่วนประกอบสำคัญของผัดฉ่ากะลาอ่อนใส่กุ้งที่เป็นเคล็ดลับคือ การใส่ใบกระเพรา 100 ปี พันธุ์ดั้งเดิมที่อนุรักษ์ปลูกเฉพาะชุมชนตะเคียนเตี้ยด้วยกลิ่นหอม ฉุน ไม่เหมือนสายพันธุ์จากแหล่งอื่น จึงทำให้อร่อยล้ำเลิสจนลูกค้าติดใจอีกด้วย

            ด้าน ภาสันต์ นุพาสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ยเป็นหนึ่งในชุมชน ที่สภาเกษตรกรฯ ได้ปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรแปรรูปผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ เป้าหมายต่อไปคือการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่แปรรูป ซึ่งปัจจุบันในชุมชนมีส่วนหนึ่งที่นำเอากะลามะพร้าวอ่อนมาแปรรูปทำเป็นส่วนประกอบในการปรุงเป็นอาหาร ที่มีความแปลกเห็นว่า น่าจะนำชุมชนแห่งนี้ทำพื้นที่การเกษตรเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงประสานงานกับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี เพื่อเรียนรู้การบูรณาการร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรือ อพท.(องค์การมหาชน) ณ วิสาหกิจชุมชนตะเคียนเตี้ย (บ้านร้อยเสา) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

            “ในอดีตชุมชนตะเคียนเตี้ยมีอาชีพทำนา เพราะน้ำสมบูรณ์ตลอดทั้งปี แต่ต่อมาน้ำที่ใช้ทำนาเริ่มไม่เพียงพอ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันไปปลูกมะพร้าวเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบของการเกษตรสู่การทำเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้น แต่มะพร้าวยังถือเป็นพืชหลักของชุมชน และชาวชุมชนใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวได้หลากหลายและที่สร้างชื่อให้กับชุมชนคือ แกงไก่กะลา ที่ใครไปสัมผัสในชุมชนต้องลองลิ้มรส เพราะดูเหมือนว่าจะมีที่เดียวครับ” ภาสันต์ กล่าว

              การไปสัมผัสชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย ไม่เพียงแต่จะได้ลิ้มลองรสอาหารพื้นเมืองที่มีส่วนผสมกะลามะพร้าวอ่อนแล้ว ยังมีอะไรมากมายที่คนภายนอกเข้าไปเรียนรู้ โดยเฉพาะด้านประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตพอเพียง และเข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านร้อยเสา ซึ่งเป็นลานวัฒนธรรมและศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม

                หลังจากที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ศึกษากระบวนงานการพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจากชุมชนนี้แล้วจะขยายการพัฒนาชุมชน เกษตรกรพื้นที่อื่นๆให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามรอยบ้านร้อยเสาได้ในอนาคตโดยร่วมมือกับอพท.ต่อไป ซึ่งผู้ที่สนใจท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นางวันดี ประกอบธรรม หมายเลขโทรศัพท์ 09 8412 1712