“กฤษฎา”ไล่บี้รองปลัดกเกษตรฯ ย้ำ”ไทยยั่งยืน”ต้องโปร่งใส

  •  
  •  
  •  
  •  

“กฤษฎา” ไล่บี้รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ “จริยา สุทธิไชยา” ให้กำชับทุกหน่วยงานดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน อย่างรัดกุม โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบ พร้อมเร่งเดินหน้าโครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร  หลัง ครม.ขยายเวลาโครงการอีก 6 เดือน

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นหัวหน้าทีมเร่งรัดการทำงาน ติดตามการใช้งบประมาณ โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ภายใต้งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยดูแลความคืบหน้าการเบิกจ่ายทุกสัปดาห์ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติขยายเวลาให้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ของรัฐบาลทุกโครงการออกไปอีก 6 เดือน จากสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561 เป็น สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2562 เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรอบคอบ และประโยชน์ตกแก่เกษตรกร

ทั้งนี้ คณะผู้ตรวจราชการของกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ และแจ้งทุกหน่วยงาน ให้ดำเนินการเร่งจัดโครงการอย่างรัดกุม ให้เป็นไปตามระเบียบ มีความโปร่งใส รวมทั้งทุกหน่วยงานประสานข้อมูล และบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยติดตามการดำเนินการในแต่ละกิจกรรมที่มีความโดดเด่น สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร เพื่อนำไปต่อยอดการขยายผล และเชื่อมโยงการตลาดให้เกษตรกรในอนาคต

[adrotate banner=”3″]

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรฯ ขณะนี้มีการลงนามในสัญญาจ้างประมาณ 80% ของงบประมาณ และมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 37.48%  คิดเป็นวงเงิน 9,367.75 ล้านบาท เชื่อว่าสิ้นเดือนกันยายน 2561 จะสามารถผูกพันงบประมาณได้ครบทุกโครงการ  โดยโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ส่วนหนึ่งดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ ปฏิรูปการผลิตจำนวน 20 โครงการ หรือ 37.08% หรือวงเงิน 9,011.71 ล้านบาท

แผนการดำเนินงานโดยภาพรวมของโครงการฯ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.88 ล้านราย เกษตรกรมีรายได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้ 1.74 ล้านราย มีรายได้ทางตรงที่เกษตรกรได้รับจำนวน 1,017 ล้านบาท และเกษตรกรได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกจากโครงการจำนวน 8,681 รายการ  โดยในแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการผลิตของ 13 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ มีทั้งหมด 17 โครงการ วงเงิน 4,913.07 ล้านบาท  เกษตรกรได้รับความรู้ 1.69 ล้านราย เกษตรกรมีรายได้จากโครงการจ้างงาน และการอบรม 946.04 ล้านบาท

สำหรับงบลงทุนมี 9 หน่วยงาน 15 โครงการ วงเงิน 4,098.65 ล้านบาท สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกทางการเกษตร 8,649 รายการ มีความคืบหน้าดังนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำ หาแหล่งน้ำชุมชน มีความคืบหน้าหลายโครงการ  ส่วนการพัฒนาการผลิตโดยการปรับเปลี่ยนการผลิต โดยการให้ลดพื้นสวนยาง 93,062 ไร่ อบรมสร้างอาชีพใหม่ 12,094 ราย ปรับพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวเปลี่ยนไปปลูกผลไม้และเกษตรผสมผสาน 6,488.50 ไร่

สนับสนุนเครื่องเกี่ยวนวดข้าว ชุดปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ ,ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6,574 ไร่ หรือประมาณ 790 ตัน ,ได้จำนวนลูกสัตว์เพิ่มตามที่ผลิตได้ 25,169 ตัว  นอกจากนี้ยังสามารถสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 9,000 ชุมชน โดยเกษตรกรได้รับประโยชน์  1.63 ล้านคน โดยความรู้ที่ได้รับประกอบด้วย กิจกรรมปศุสัตว์ 3,620 คน ได้พัฒนาทักษะการผสมเทียม การเฝ้าระวังโรค และอนุมัติเงินสนับสนุนให้ทำกิจกรรมอีก 8,467 โครงการ ชุมชนละ 300,000 บาท

นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ดำเนินการโดย 9 หน่วยงาน 1 โครงการ ดำเนินการได้แล้ว 241.47 ล้านบาท หรือคืบหน้า 47.77%  มีประชาชนมีอาชีพใหม่ 141,468 คน มีรายได้รวม 71.03 ล้านบาท  และงบลงทุนในการพัฒนาระบบชลประทาน ดำเนินการแล้ว 114.56 ล้านบาท หรือคืบหน้า 61% จ้างงานได้ 9,051 คน เฉลี่ยมีรายได้ 12,716 ล้านบาท/คน