กาแฟ 3.8 หมื่นล้านโตสะพรั่ง ซีพีพุ่งทะยาน “แตกแบรนด์” ยึดทุกตลาด

  •  
  •  
  •  
  •  

“ซีพี ออลล์” แตกแบรนด์ยึดตลาดกาแฟไม่หยุด ปั้นออลล์ คาเฟ่, ออลล์ คาเฟ่ โกลด์, คัดสรร, มวลชน, เบลลินี่, อาราบิเทีย และจังเกิ้ลคาเฟ่ ชิงส่วนแบ่งตลาดกาแฟ 3.8 หมื่นล้านพร้อมเคลื่อนทัพส่งตีตลาดต่างประเทศด้วยสูตรเร่งเติบโต “แฟรนไชส์” เปิดโมเดลราคาแฟรนไชส์เบา ๆ 4 แสนจูงใจตลาดกาแฟมูลค่าประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาทโตแรงไม่หยุด ไม่เพียงเฉพาะในกลุ่มร้านพรีเมี่ยมที่ยึดสัดส่วน 20% ของตลาด แต่ยังรวมถึงรถเข็นกาแฟและทูอินวันที่ขยายตัวต่อเนื่อง

สอดคล้องกับการขยายสาขาและเพิ่มการลงทุนของแบรนด์ร้านกาแฟที่เดินหน้าไม่หยุด เช่นเดียวกับยักษ์ค้าปลีก “ซีพี ออลล์” ที่แตกสารพัดแบรนด์กาแฟออกมาเพื่อเป็นทางเลือกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดที่โตร้อนแรงนี้

เจ้าสัวธนินท์ตัดริบบิ้นอินเดีย

ความเคลื่อนไหวของแบรนด์กาแฟในเครือ “ซีพี ออลล์” ลอนช์ออกมาครอบคลุมทุกตลาด ตั้งแต่ราคาระดับแมสไปจนถึงตลาดระดับกลางบนทั้งที่ไปกับร้านสะดวกซื้อ 7-11 และการเข้าไปเปิดสแตนด์อะโลนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ ออลล์ คาเฟ่, ออลล์ คาเฟ่ โกลด์, มวลชน, เบลลินี่, อาราบิเทีย และจังเกิ้ลคาเฟ่ ซึ่งบางแบรนด์ได้นำร่องออกไปเปิดตลาดในต่างประเทศแล้ว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เดินทางไปอินเดียเพื่อร่วมฉลองเปิดร้านกาแฟ “อาราบิเทีย” สาขาแรกที่เปิดแฟรนไชส์ในตลาดอินเดีย พร้อม ๆ กับการเปิดร้านค้าส่ง LOTS Wholesale Solutions แห่งแรกในอินเดีย

ลุยเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ

นายนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดกาแฟในปัจจุบันเติบโตประมาณ 15-20% มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าตลาดร้านกาแฟสามารถเติบโตได้อีกมาก บริษัทจึงได้ขยายช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น และเร่งเดินหน้าขยายธุรกิจร้านกาแฟอย่างต่อเนื่อง และได้เปิดทดลอง “เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ” ที่สามารถชงกาแฟเพียงแค่กดปุ่มสัมผัส โดยเริ่มเปิดให้บริการสาขาแรกที่สำนักงานใหญ่ ซีพี ทาวเวอร์ และในเดือนหน้าขยายสาขาเพิ่มที่ตึกฟอร์จูน รัชดาภิเษก จำนวน 10 ตู้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และพนักงานออฟฟิศซึ่งเป็นย่านของธุรกิจใจกลางเมืองที่สำคัญ

ขายแฟรนไชส์ราคา 4 แสน

ในส่วนของธุรกิจกาแฟปัจจุบันมีร้านกาแฟมวลชนกว่า 120 สาขา ปีนี้มีเป้าหมายจะเปิดสาขาเพิ่ม โดยมีแฟรนไชส์ 3 แบบ คือ ไซซ์ S, M, L ค่าแรกเข้าตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึงกว่า 1 แสนบาท รวมงบฯในการลงทุนอุปกรณ์และวัตถุดิบตั้งแต่ 4 แสนบาทถึง 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพัฒนาแบรนด์จังเกิ้ลคาเฟ่ เมื่อปีที่แล้วได้ประเดิมสาขาแรกที่ประเทศลาว และจะขยายเพิ่มอีกเป็น 3 สาขา ส่วนอาราบิเทีย คาเฟ่ มีสาขาที่กัมพูชา อยู่ในช่วงวางแผนขยายสาขา และยังเปิดที่เมืองจีนอีก 3 สาขา และขยายสาขาไปประเทศจีนเพิ่มกว่า 30 สาขาในขณะที่ตลาดต่างประเทศ บริษัทได้ขยายธุรกิจกาแฟด้วยการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ จีน กัมพูชา เวียดนาม พม่า เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความพร้อมในเรื่องของการจับจ่าย ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น อาจมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเช่นกัน

ส่งสินค้าใหม่เสริมทัพกาแฟ

นอกจากนี้ยังมองเห็นการเติบโตของธุรกิจกาแฟและธุรกิจเครื่องครัว จึงเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและเพิ่มตัวแทนจำหน่ายให้ครอบคลุม ซึ่งในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนรายได้ของธุรกิจร้านกาแฟเติบโตกว่า 30% สำหรับยอดขายในครึ่งปีหลัง บริษัทตั้งเป้าเติบโตกว่า 30%

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พัฒนาโครงการกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน ส่งเสริมสร้างอาชีพให้ผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจร้านกาแฟพร้อมพัฒนาร้านต้นแบบรีเทลลิงค์ คอฟฟี่ และได้ขยายสาขากาแฟสร้างอาชีพเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งมีโชว์รูมแสดงสินค้า และอุปกรณ์ อาทิ เครื่องทำกาแฟ เครื่องปั่นสมูทตี้ เครื่องทำน้ำแข็งเกล็ด เครื่องจ่ายเครื่องดื่มเย็น เครื่องล้างจาน เป็นต้น

 

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม :https://www.prachachat.net/marketing/news-205538