เลือก 777 สหกรณ์ไขลานใหม่ร่วมปฏิรูปภาคเกษตร

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ เลือก 777 สหกรร์ทั่วประเทศไทยที่มีศักยภาพ มาไขลานใหม่ให้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และปฏิรูปภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร โดยใช้กลไกสหกรณ์ที่รับนโยบายจากรัฐโดยตรงสู่เกษตรกร เน้นใช้หลักการตลาดนำการผลิต

          นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายทิศทางการขับเคลื่อนภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์ ณ หอประชุมกองทัพอากาศ ว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในหลายโครงการจำเป็นต้องใช้กลไกของสหกรณ์เข้ามาดำเนินการ ทั้งเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ซึ่งสหกรณ์ต้องทำหน้าที่ในการรองรับนโยบายจากภาครัฐ เพื่อส่งต่อไปถึงตัวเกษตรกร

         เบื้องต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจประสบผลสำเร็จและมีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานในการบริหารจัดการในระดับดีเด่น ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ที่รวบรวมผลผลิตการเกษตรที่สำคัญทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ผลไม้ โคเนื้อ นม และสินค้าแปรรูป จำนวน 777 แห่ง เข้ามารับฟังนโยบายในครั้งนี้

         ทั้งนี้เพี่อผลักดันให้สหกรณ์เหล่านี้เป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน พร้อมทั้งช่วยต่อยอดนโยบายของรัฐบาล ในการดูแลและส่งเสริมความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยให้แก่เกษตรกร การบริหารจัดการสินค้าการเกษตร  ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เริ่มตั้งแต่ส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด การรวบรวมผลผลิตของเกษตรกรเพื่อนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และการประสานภาคเอกชนเข้ามาส่งเสริมช่องทางตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาที่เป็นธรรม มีรายได้และความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

[adrotate banner=”3″]

          อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้สนองนโยบายรัฐบาล โดยดำเนินการในด้านต่างๆ อาทิ 1. การรักษาเสถียรภาพราคา โดยการบริหารจัดการเกษตรกรรมแผนใหม่ “ตลาดนำการผลิต” 2. สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตแบบแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิต 3. การขยายผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ประชารัฐสมัยใหม่ เชื่อมโยงกับการตลาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เชื่อมโยงกับโครงการ BOI ที่จะส่งเสริม SME ภาคเกษตรที่เป็น Agri – Solution Provider รวมทั้งการขยายเครือข่ายภาคเอกชนรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ

       4.พัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Famer ผ่านศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.) ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ผ่านระบบไอที เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Famer ต่อไป 4. กำหนดพื้นที่ทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพดิน โดยการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรที่ตลาดยังขาดแคลน และ 5. โครงการปลูกพืชอื่น ๆ หลังฤดูทำนาปี เป็นต้น

        “สหกรณ์การเกษตรทั้ง 777 แห่ง ที่เข้ามารับมอบนโยบายในวันนี้ ล้วนเป็นสหกรณ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่าได้ดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จ มีความเข้มแข็ง และมีมาตรฐานในการบริหารจัดการระดับดีเด่น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ วางแผนจะส่งเสริมใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อขยายกิจการของสหกรณ์ โดยสหกรณ์ต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้น มีการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่การรับฝากเงินจากสมาชิกแล้วปล่อยกู้เพื่อให้ได้กำไรเพียงอย่างเดียว 2. การส่งเสริมความรู้ให้แก่เกษตรกร ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน และต่อยอดพัฒนาให้เป็น Smart farmer และ 3. เชื่อมโยงการตลาดโดยใช้ระบบสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถช่วยผลักดันการปฏิรูปภาคเกษตรให้เห็นผลชัดเจนขึ้น และเกษตรกรอีกกว่า 7 ล้านครัวเรือนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายกฤษฎา กล่าว