“กฤษฎา” ถกผู้บริหารระทรวงเกษตรฯ เร่งหาข้อสรุปความพึงพอใจหรือความเป็นธรรมทางรายได้ของเกษตรกรไทย หวังมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ชี้เกษตรกรลงทุนต้องไม่ขาดทุน และต้องมีกำไรไม่น้อยกว่า 20 – 30% รวมค่าแรงของตัวเองด้วย
[adrotate banner=”3″]
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขอให้คำนวณและประเมินความพึงพอใจหรือความเป็นธรรมทางรายได้ของเกษตรกรไทย ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ว่าเกษตรกรไทยควรได้รับค่าตอบแทนจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อเดือนหรือต่อปี เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ถึงจะเป็นธรรมสำหรับผู้มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งอาจใช้ปัจจัยหรือเหตุผลทางสังคมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์คำนวนออกมาให้เห็นข้อเท็จจริงด้วย เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 300 บาท หรือรายได้ขั้นต่ำของคนที่จบปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท เป็นต้น
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า จากการหารือในเบื้องต้น ได้ข้อสรุปต่าง ๆ ดังนี้ 1) ในการประกอบอาชีพเกษตรกร ควรได้รับการดูแลโดยมีการประกันรายได้ขั้นต่ำ ต้องไม่ขาดทุนและมีกำไรไม่น้อยกว่า 20 – 30% ของค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำการเกษตร (รวมค่าแรงของตัวเองด้วย) 2) เกษตรกรรายที่ปฏิบัติตามหรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล นอกจากจะได้รับการคุ้มครองรายได้ขั้นต่ำแล้ว ภาครัฐควรเพิ่มแรงจูงใจอื่น ๆ อาทิ การส่งเสริมให้มีการออมระยะยาว หรือการดูแลความเสี่ยงด้านชีวิต โดยภาครัฐสนับสนุนงบประมาณบางส่วน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การค้นหารายได้ที่เป็นธรรมของเกษตรกรไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เนื่องจากความหลากหลายในการบริหารจัดการการเกษตร และวิถีการครองชีพของเกษตรกร แต่หากมีการจำแนกตามประเภทของเกษตรกรรม อาทิ 1) การประกอบอาชีพด้านการเพาะปลูกพืช 2) การประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์ และ 3) การประกอบอาชีพประมง เพราะผลวิจัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า แม้แต่ในกลุ่มคนทำข้าวสาลีก็ยังยากในการกำหนดราคาที่เป็นธรรม เนื่องจากความหลากหลายในการบริหารจัดการการเพาะปลูก สภาพพื้นที่ต่างกัน และวิถีการครองชีพที่แตกต่างกัน
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งหวังให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งทั้งในรูปแบบของการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ หรือในรูปแบบของสหกรณ์ นอกจากนี้ การสร้าง value added ของสินค้าเกษตร ภายใต้แผนการพัฒนาที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพืช จะทำให้เกษตรกรมีการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะทำให้เกิด Smart farming และ Smart farmer ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว จะใช้ประกอบการหารือร่วมกับภาคเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และชี้แจงนโยบายรายได้ของเกษตรกรเมื่อทำการเกษตรตามแผนการผลิตทางเกษตรของชาติต่อไป” รมว.เกษตร กล่าว