กล้วยตาก”แสงตะวัน”พิษณุโลกบุกตะวันออกกลาง โต 30%

  •  
  •  
  •  
  •  

กล้วยตากแสงตะวันเมืองสองแควโกอินเตอร์ บุกตลาดตะวันออกกลาง อาหรับ-โอมาน-ดูไบ ชูจุดเด่นพันธุ์มะลิอ่องสีเหลืองทอง-หวาน ชี้เติบโตปีละ 30% พร้อมเตรียมรุกส่งออกตุรกี-ลงทุนด้านการแปรรูปแทนซาเนีย

นางดวงดรันย์ อยู่สวัสดิ์ ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ แบรนด์แสงตะวัน จ.พิษณุโลก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กล้วยตากแสงตะวันมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ ได้แก่ ประเทศแถบตะวันออกกลาง ทั้งโอมาน อาหรับ ดูไบ ล่าสุดวางแผนส่งออกไปตุรกีและแทนซาเนีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมทำให้มีคู่แข่งน้อย โดยช่วงรอมฎอนได้รับการตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า ซึ่งผู้บริโภคมั่นใจในสินค้าไทย นอกจากนี้ยังมีกล้วยตากแช่น้ำผึ้งเดือนห้า เป็นน้ำผึ้งจากแบรนด์บีโปรดักต์ที่มีเครื่องหมาย

ฮาลาล ถือเป็นยาอายุวัฒนะและกินได้ตามหลักศาสนา ส่วนตลาดในประเทศวางจำหน่ายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ ทำให้สัดส่วนการส่งออกมากกว่าตลาดภายในประเทศถึง 70%

ปัจจุบันแบรนด์กล้วยตากแสงตะวันมีสินค้าอยู่ 3 ชนิด คือ กล้วยตากธรรมชาติ กล้วยแช่น้ำผึ้ง และกล้วยม้วน แต่ที่ได้รับความนิยมในอาหรับคือ กล้วยแช่น้ำผึ้ง ราคาขายปลีกอยู่ที่ 180 บาท โดยมีคำว่าอาลีนเป็นภาษาอาหรับแทนสัญลักษณ์ฮาลาล ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโต 20-30% อย่างต่อเนื่อง ส่งออกประมาณ 2-3 ตู้คอนเทนเนอร์/ปี โดย 1 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักประมาณ 25 ตัน มูลค่าตู้ละ 1.2 ล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยส่งออกปีละประมาณ 3 รอบ และสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน 1 ปี เหมาะกับช่วงเวลาในการขนส่งไปจนถึงมือผู้บริโภค

ทั้งนี้ กล้วยตากแสงตะวันมาจากการผลิตกล้วยตากในอำเภอบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยกว่า 80 ปีแล้ว และขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตกล้วยตากอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งเรื่องราวการทำกล้วยตากนั้นสามารถสื่อถึงวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนพิษณุโลกได้ โดยจะใช้กล้วยสายพันธุ์มะลิอ่องจากเมืองพิษณุโลกหรือเมืองสองแควเท่านั้น เพราะมีลักษณะเฉพาะทั้งเรื่องของรสชาติและสี เนื้ออวบอ้วน ใส เป็นสีขาว ตากแล้วไม่ดำ เมื่อตากประมาณ 5 แดด จะได้กล้วยเป็นสีทอง น้ำที่ออกมาจากกล้วยจะมีรสชาติดีเหมือนกับน้ำผึ้ง ทำให้ได้รสชาติที่อร่อยถูกปาก

โกอินเตอร์ – กล้วยตากแสงตะวัน จ.พิษณุโลก ส่งออกตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกาและแทนซาเนีย เจาะตลาดกลุ่มมุสลิม พร้อมเดินหน้ารับผลิตสินค้า OEM หวังชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่ตลาดโลก

“จุดเริ่มต้นของแบรนด์คือ แรงบันดาลใจในการนำเสนอสินค้าโอท็อปที่มีชื่อเสียงของพิษณุโลกออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ และการตากกล้วยโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นที่มาของชื่อแบรนด์ เราได้รับด้านนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในเรื่องของการสร้างโดมพาราโบลาในการตากกล้วย ปัจจุบันมีโรงงาน 30 แห่งที่ทดลองใช้ จนมาทำเป็นแบบโดม สามารถควบคุมเรื่องของคุณภาพได้กว่า 93-95% ทำให้ได้กล้วยตากที่มีคุณภาพดี ด้วยกำลังการผลิต 1,800 กิโลกรัม/วัน มีพื้นที่ผลิตอยู่ทั้งหมด 7 โดม รวมกับกล้วยตากของชาวบ้านที่ใช้โดมในการผลิตเช่นกัน  นอกจากนี้ มีการทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับเกษตรกร และรับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์อื่นด้วย”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม :https://www.prachachat.net/local-economy/news-188071