“กฤษฎา”เรียก 12 ผู้ตรวจให้ตาม”ไทยนิยมยั่งยืน”

  •  
  •  
  •  
  •  

“กฟษฎา” ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ มอบ 3 นโยบายให้ติดตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ย้ำให้ดำเนินงานตามแผนอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการการตรวจติดตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2561 ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เชิญผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ 12 ท่าน ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับซี 10 และผู้ตรวจราชการทุกหน่วยงานในสังกัด มารับฟังการมอบแนวทางการติดตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยได้มอบการดำเนินงานดังนี้ 1) มอบอำนาจให้ผู้ตรวจราชการฯ ตรวจติดตามงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล งานเร่งด่วน 2) งานในอำนาจหน้าที่ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และ 3) งานริเริ่มด้านการเกษตร

สำหรับความก้าวหน้าโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 2 แผนงาน 22 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 24,000 ล้านบาท ขณะนี้มีความก้าวหน้า 15 – 20 % เนื่องจากโครงการที่ได้รับงบประมาณกว่า 13,000 ล้านบาท เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชน ซึ่งต้องรอให้ฝนหยุดตกก่อนจึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ และโครงการส่วนใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการอบรมด้านอาชีพ ซึ่งต้องรอรายชื่อผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่แจ้งความประสงค์เข้าอบรมพัฒนาอาชีพ

[adrotate banner=”3″]

ขณะนี้บางโครงการมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าอบรมเกินโควตา บางโครงการมีผู้ลงทะเบียนไม่ถึงโควตาที่กำหนด ทั้งนี้ได้เตรียมหารือกระทรวงการคลังให้กระทรวงเกษตรฯ สามารถดำเนินการเกลี่ยจำนวนผู้ลงทะเบียนให้สามารถรับประโยชน์ในการเบิกจ่ายค่าเดินทางเพิ่มอีกคนละ 250 – 300 บาท โดยโอนผ่านบัญชีธนาคาร จากเดิมที่จะได้รับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 400 บาท

ส่วนกรณีการจัดซื้อเครื่องมือทางการเกษตรของสหกรณ์การเกษตร งบประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท โดยเป็นเงินในการอุดหนุนสหกรณ์การเกษตร 300 แห่ง ในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตร อาทิ รถยก สร้างลานตาก จัดซื้ออุปกรณ์อบแห้ง เป็นต้น โดยเบิกจ่ายผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ นั้น มีการเสนอราคาแตกต่างกัน เนื่องจากรายละเอียดและคุณสมบัติของเครื่องมือ ซึ่งได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจลงไปตรวจสอบโดยด่วนแล้ว สำหรับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ติดขัดอยู่นั้น กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหารือร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป และขอยืนยันว่ายังไม่เกิดความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน กิจกรรมส่งเสริมการลดพื้นที่ปลูกยาง โดยการโค่นสวนยางเดิมที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 16,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปลูกยางพาราปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมใหม่ ขณะนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจข้อเท็จจริงและชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่แล้ว