โดย…ดลมนัส กาเจ
เกษตรกรสาว ชาวสวนยางรุ่นใหม่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางแม่สลวย บนที่สูง “นฤมล ปาณะที” จาก ต.ศรีถ้อย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ปิ้งไอเดียงานวิจัย ใช้ผ้าใบดิบเครือบยางพาราผสมเคมีตามสูตร ผลิต” บ่อน้ำเคลือบยางพารา” สำหรับกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรในยามแล้ง สามารถกักบรรจุน้ำได้ถึง 8,000 ลิตร มีความทนทานยางนานเป็นทศวรรษ ปรากฏว่าสร้างความฮือฮา ได้รับความนิยมทั้งจากเกษตรกร และหน่วยงานของรัฐที่มาเป็นลูกค้า สร้างรายได้สุทธิหักต้นทุนแล้วได้ปีละ 3 แสนบาท
นฤมล บอกว่าเกิดมาในครอบครัวที่มีอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ กระทั่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมปลูกยางพารในโครงการส่งเสริมเกษตรปลูกยางพารา 1 ไร่ เมื่อกว่า 10 ก่อน จึงหันมาปลุกยางพาราในพื้นที่ 25 ไร่ และกรีดได้เมื่อ 6 ปีก่อน โดยทำเป็นน้ำยางก้นถ้วย ตอนหลังราคายางพาราผันผวน ราคายางตกต่ำ จึงหาแนวทางที่จะแปรรูยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น
สอดคล้องกับนโนยายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการแปรรูปยางพาราใช้ภายในประเทศให้มากที่สุด กระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อนทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่องานวิจัย (สวก.)มีงานวิจัยภายใต้โครงการ “เทคโนโลยีการเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำ ด้วยน้ำยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยผ้าด้ายดิบ” ได้ไปดำเนินโครงการทำบ่อน้ำขนาดใหญ่ โดยให้ผ้าดิบเครือบยางปูพื้นบ่อ เพื่อกักเก็บน้ำในพื้นที่
ในระหว่างนั้นเองทางโครงการได้หา กลุ่มเกษตรกรที่สนใจจะทำโครงการบ่อกักน้ำใช้ในชุมชน จึงเกิดความสนใจและได้ศึกษานำผลงานวิจัยเรื่องการสร้างบ่อน้ำเคลือบยางพารา ของ สกว.และตัดสินใจนำเอาแนวทางผลิตบ่อน้ำเคลือบยางพารามาทดลองผลิตโดบมี สกว.ให้การส่งเสริมเป็นพี่เลี้ยงให้ และคิดว่าน่าจะทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อชดเชยรายได้เลี้ยงครอบครัว
เนื่องจากวัตถุดิบสามารถหาได้ในพื้นที่ และประกอบกับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่สูงจะประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ซึ่งการทำบ่อน้ำเคลือบยางพารา จึงเป็นการตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เป็นอย่างมาก ปรากฏว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก บ่อน้ำเคลือบยางพาราจึงเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ไว้ใช้ในการกักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตร
“บ่อน้ำเคลือบยางพาราที่เราทำนั้น เดิมเราทดลองมาหลายขนาด พบว่าดีที่สุด หมาะกับพื้น และการหาแหล่งที่จะมาเติมนั้น เราได้ขนาดมาตรฐาน 4 x 2 เมตร สามารถทำได้ในรูปแบบทั้งยกลอย และแบบฝังดิน โดยใน 1 บ่อ จะบรรจุน้ำได้ 8,000 ลิตร ตอนนี้เราทำขายบ่อละตก 4}200 บาท หรือคิดตารางเมตรละ 200 บาท ตอนนี้ทำให้กับหน่วยงานของภาครัฐไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ของ จ.น่าน “ นฤมล กล่าว
สำหรับส่วนผสมในการทำยางที่จะเครือบผ้าดิบนั้นใช้น้ำยางธรรมชาติปริมาณ 50 กิโลกรัม ประกอบกับสารเคมีตามสูตรที่กำหนดไว้ มีวัตถุดิบหลักคือ ผ้าดิบและน้ำยางพารา คือเอาผ้าดิบมาเครือบ และตัดรูปทรงให้ให้เป็นกักน้ำทั่วไปแต่ใช้ผ้าดิบเครือยน้ำยางพารา จะบ่อน้ำยางพารามีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ สามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตรและทำการประมง สามารถมีอายุยาวนานถึง 10 ปี แต่ต้องมีน้ำขังไว้ตลอดที่สำคัญเมื่อเกิดการชำรุดสามารถทำการซ่อมแซมให้กลับมาคงทนเหมือนเดิมได้ ต่างจากบ่อน้ำพลาสติกทั่วไป
“ที่จริงเราได้เริ่มผลิตบ่อน้ำมากว่า 2 ปีแล้ว มีลูกค้ามาตลอด ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกร ทำให้มีรายได้เฉลี่ยต่อปี หักต้นทุนแล้ว อยู่ประมาณ 3 แสนบาท ส่วนค่าแรงใช้แรงงานภายในครัวเรือนเป็นหลัก ตอนนี้ทางการยางแห่งประเทศไทย ( กยท. ) ได้เข้ามาดูแลให้ความรู้ในด้านการแปรรูป จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ และยังช่วยเหลือสนับสนุนเงินทุนจำนวน 8 หมื่นบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วย” เธอ กล่าว
ก็นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของภาคการเกษตรไทย ที่เกษตรกรเริ่มขยับตัวเข้าสู่ “เกษตรกร สมัยใหม่” ที่อาจจะนำไปสู่ธุรกิจเกษตร ที่เกษตรกรรายอื่นๆกำลังประสบปัญหาด้านราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงได้ เพื่อการทำเกษตรได้อยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
[adrotate banner=”3″]
ข้อมูลงานวิจัย:“เทคโนโลยีการเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำ ด้วยน้ำยางธรรมชาติฯ”
สำหรับจากการวิจัย “เทคโนโลยีการเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำ ด้วยน้ำยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยผ้าด้ายดิบ” เป็นเทคโนโลยีที่กระบวนการในการทำไม่ซับซ้อน สามารถแยกเป็นขั้นตอนหลักๆได้ 2 ขั้นตอน คือ
1.การเตรียมน้ำยางคอมปาวด์ (น้ำยางผสมสารเคมี) ซึ่งเป็นการนำน้ำยางธรรมชาติ หรือน้ำยางพารา มาทำให้ข้นขึ้นด้วยกระบวนการครีมมิง หรืออาจจะใช้เทคนิคอื่นๆ เช่น ใช้เทคนิคการเซนตริฟิวซ์ ฯลฯ มาใส่สารเคมีที่จำเป็น ได้แก่ สารเพิ่มความเสถียร สารป้องกันการเสื่อม สารตัวเติม สารกระตุ้น สารตัวเร่ง กำมะถัน ฯลฯ แล้วบ่มทิ้งไว้ จนมีระดับของพรีวัลคาไนซ์ โดยวัดจากค่าดัชนีการบวมพองในทูโลอิน (toluene swelling index) อยู่ระหว่าง 90 – 100 % จึงนำไปใช้งานได้
2.การเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำ เราจะใช้ผ้าใบด้ายดิบจำนวน 1 – 2 ชั้น (ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงที่ต้องการ) มาวางลง ถ้าต้องการ 2 ชั้น ให้นำผ้าใบมาวางลง จากนั้นทาหรือพ่นทับด้วยน้ำยางคอมเปาด์ แล้ววางชั้นผ้าใบชั้นที่ 2 ลงไป จากนั้นพ่นหรือทาน้ำหนักคอมเปาด์ซ้ำ แล้วปล่อยทิ้งไว้ ให้เกิดการวัลคาไนซ์ (การสุกของยาง) เป็นเวลาประมาณ 3 วัน
ผลการทดสอบสมบัติเชิงกายภาพของยางเคลือบสระน้ำ/บ่อน้ำ พบว่า มีสมบัติด้านความต้านทานต่อแรงดึง ความสามารถในการยืดจนขาด ความต้านทานต่อการฉีกขาดในระดับที่สูงกว่าแผ่นพลาสติกที่ใช้ในการปูบ่อน้ำทั่วไป สมบัติทางกายภาพของยางเคลือบสระน้ำ เมื่อทิ้งไว้ในสภาวะของการใช้งานจริง ประมาณ 12 เดือน พบว่า สมบัติเชิงกายภาพลดลงประมาณ 23 – 36 %
เมื่อเทียบกับสมบัติของแผ่นฟิล์ม HDPE ที่ใช้งานในการปูสระน้ำ พบว่า ยังคงมีสมบัติเชิงกายภาพในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่แผ่นยางธรรมชาติเสริมผ้าใบมีความต้านทานต่อการฉีกขาดที่สูงกว่าประมาณ 2 เท่า
ส่วนผลการวิเคราะห์คุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงปลาที่ปูด้วยยางธรรมชาติเสริมผ้าใบ พบว่าตัวอย่างน้ำที่เก็บในบางช่วง มีค่าความขุ่นของน้ำสูงกว่าเกณฑ์เล็กน้อย ส่วนตัวอย่างและค่าวิเคราะห์อื่นๆ มีค่าตามเกณฑ์ที่กำหนด พบว่า เมื่อนำยางเคลือบสระน้ำไปทดลองในพื้นที่ที่มีความเค็ม ในตัวอย่างน้ำที่เก็บไปทดสอบในช่วงตลอดระยะเวลา 5 เดือน พบว่าค่าความเค็มเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าน้ำจากภายนอกไม่สามารถซึมผ่านเข้ามาในบ่อเลี้ยงปลาที่ปูด้วยเทคนิคนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ายางปูบ่อน้ำได้ทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้เป็นอย่างดี
เมื่อเราเปรียบเทียบกับวัสดุอื่นที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน เช่น HDPE หรือ แผ่นยางวัลคาไนซ์ด้วยเทคโนโลยีของยางแห้ง เช่น แผ่นยางสังเคราะห์อีพีดีเอ็ม หรือยางธรรมชาติ ที่ผลิตจากบริษัทเอกชนรายใหญที่มีความพร้อมสูง จะต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และเงินลงทุนสูง เทคโนโลยีการทำวัสดุยางเคลือบสระน้ำที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติเคลือบด้วยผ้าใบ มีความเรียบง่ายของเทคโนโลยีการผลิตมากกว่า เคลื่อนย้ายสะดวก สามารถประยุกต์ใช้ได้กับขนาดของสระน้ำที่หลากหลาย ตลอดจนมีการลงทุนด้านอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ต้นทุนต่ำ และอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า (ประมาณการคือ 10 ปี)
กระนั้นมีจุดด้อยคือ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และยางธรรมชาติที่ใช้เป็นวัสดุหลักมีความผันผวนของราคาอยู่ตลอด อาจทำให้ต้นทุนการผลิตไม่แน่นอน