ปัจจัยที่ทำให้ข้าวเหนียวมีราคาพุ่งถึงตันละ 2 หมื่นบาท

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย..รศ.สมพร อิศวิลานนท์

                                                          สมพร อิศวิลานนท์  

        ข้าวเหนียวมีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญอยู่ในภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือตอนบนซึ่งประชากรในพื้นที่ดังกล่าว มีการบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารจานหลักในชีวิตประจำวัน และเป็นการทำเกษตรเพื่อวิถีชีวิตเพราะผลผลิตข้าวเหนียวที่เก็บเกี่ยวได้จะถูกเก็บไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นสำคัญก่อนที่แบ่งอุปทานส่วนเกินออกขายสู่ตลาด

         ข้าวเหนียวจะปลูกมากในฤดูนาปีเป็นส่วนใหญ่และเป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่มีเมล็ดยาว มีความเหนียวนุ่ม ถึงแม้ว่าจะปล่อยให้เย็นเมื่อมูลทิ้งไว้และเป็นพันธุ์ไวต่อช่วงแสงปลูกได้เฉพาะนาปี เช่น พันธุ์เขี้ยวงู กข6 เขาวง สันป่าตอง ซิวแม่จัน กำผาย หางยี เป็นต้น

         ข้าวเหนียวพันธุ์ไม่ไวแสงเป็นพันธุ์ข้าวลูกผสม สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาลทั้งนาปีและนาปรัง เช่น พันธุ์ กข2 กข10 สันป่าตอง 1 แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะเมื่อมูลสุกแล้วปล่อยให้เย็นจะแข็ง ไม่อร่อย ไม่มีความนุ่มเหมือนข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง ตลาดจะให้ราคาข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงต่ำกว่าข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะในตลาดส่งออก ข้าวเหนียวพันธุ์ไม่ไวแสงส่วนมากจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแป้งข้าว และแอลกอฮอล์ เป็นต้น และมีปริมาณผลผลิตไม่มากนัก

          หากพิจารณาจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวเหนียวทั่วประเทศเฉลี่ยในปี 2559 – 61 ของไทยพบว่า มีประมาณ 15.5 ล้านไร่ และมีผลผลิตประมาณ 6.05 ล้านตันข้าวเปลือก ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวจำนวนดังกล่าวนี้ เมื่อทอนหรือสีเป็นข้าวสารจะได้ข้าวสารเหนียวประมาณ 3.5 – 3.7 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีเพียงหนึ่งในสิบส่วนเท่านั้นที่ส่งออก โดยในปี 2561 มีปริมาณส่งออก 0.38 ล้านตัน ข้าวสารเหนียว อีกเก้าส่วนหรือประมาณ 3.3 – 3.5 ล้านตัน ใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศ
เนื่องจากข้าวเหนียวเป็นสินค้าข้าวที่ใช้บริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ

          ส่วนปรากฎการณ์ข้าวเหนียวมีราคาแพงที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปทานในตลาดข้าวเหนียวภายในประเทศ อันเนื่องจากปัจจัยดังนี้:1. ภาวะภัยแล้งในภาคอีสานได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวในหลายพื้นที่ให้ลดต่ำลงจากเดิม ประกอบกับในปีนี้ได้เกิดภาวะแล้งกลางฤดูฝนซ้ำเติมขึ้นและคาดว่าจะมีความรุนแรงกว่าทุกปีขึ้นอีก จึงทำให้เกิดการคาดเดาว่า ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวของแต่ละครัวเรือนและอุปทานผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวโดยภาพรวมจะลดต่ำลงไปกว่าทุกปี เพราะภัยแล้งได้สร้างความเสียหายเกิดขึ้นในวงกว้าง

          2. ครัวเรือนที่เพาะปลูกข้าวเหนียวส่วนมากแล้ว จะเก็บผลผลิตส่วนหนึ่งไว้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน จึงยังคงเก็บข้าวเอาไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือนยาวขึ้นกว่าเดิม และไม่นำอุปทานส่วนเกินที่เหลืออยู่ออกสู่ตลาด เพราะเกรงว่าภัยแล้งในปีนี้จะทำให้ไม่ได้ผลผลิตและครัวเรือนจะขาดความมั่นคงทางอาหาร ทำให้อุปทานส่วนเกินที่เคยออกสู่ตลาดหดตัวลง

         3. ราคาข้าวเหนียวในอดีตตกต่ำกว่าราคาข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือหอมมะลิ ซึ่งเป็นพืชที่ใช้พื้นที่เพาะปลูกทดแทนกันได้กับการปลูกข้าวเหนียว ครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวเหนียวส่วนหนึ่งจะปรับการเพาะปลูก โดยจัดสรรที่ดินไปปลูกข้าวหอมมะลิมากขึ้น และปลูกข้าวเหนียวเพียงส่วนน้อยเพียงเพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น หรือปลูกข้าวหอมมะลิไว้ขายและจะปลูกข้าวเหนียวไว้กิน จึงทำให้ทั้งพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวลดลงจากอดีต โดยหดตัวจาก 18.4 ล้านไร่ ในช่วงปี 2544 – 47 มาเป็น 15.5 ล้านไร่ ในปี 2559 – 61 ส่วนผลผลิตได้ปรับลดลงด้วยเช่นกัน

        4. ในตลาดข้าวเปลือกเหนียวจะมีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นโรงสีข้าวเหนียว และผู้ประกอบการค้าข้าวเปลือกเหนียว ซึ่งจะเป็นผู้รวบรวมข้าวเปลือกเหนียวจากเกษตรกรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวและจะรวบรวมเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ เพื่อการเก็งกำไรเมื่อราคาสูงขึ้นในปลายฤดูเมื่อมีอุปทานผลผลิตน้อย เพราะข้าวเหนียวที่นิยมเพื่อการบริโภคเป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกได้ปีละครั้ง

          สถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงในปีนี้ จึงทำให้ตลาดการค้าข้าวเปลือกเหนียวและโรงสีข้าวเหนียวหันมาเก็บสต็อกข้าวเหนียวให้ยาวขึ้นกว่าเดิม และส่งผลให้ปริมาณอุปทานข้าวเปลือกเหนียวที่ออกสู่ตลาดมีลดลงข้อมูลจากสมาคมโรงสีได้รายงานว่าราคาข้าวเปลือกเหนียว กข 6 ได้ปรับตัวเฉลี่ยจาก 11,850 บาทต่อตันข้าวเปลือก ในปี 2561 มาเป็น 14,000 – 14,500 บาท ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 16,000 บาทต่อตันข้าวเปลือกในต้นสัปดาห์ของเดือนกรกกฎาคม และปรับตัวสูงขึ้นอีกเป็น 20,000 บาท ในกลางเดือนสิงหาคม 2562

        จะเห็นว่านับจากราคาเฉลี่ยปี 2561 จนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2562 ราคาข้าวเหนียว กข 6 ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วเกือบร้อยละ 70 ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้จะแกว่งตัวไปสักระยะหนึ่งแล้วจะมีทิศทางที่ลดลง เมื่อมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกข้าวเหนียวกันมากขึ้น รวมถึงมีการลักลอบนำเข้าจากชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่ข้าวเหนียวมีราคาต่ำกว่า

                                                พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวใประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว)

        ปัจจัยที่กล่าวถึงเป็นปัจจัยที่มากระทบจากด้านอุปทานของผลผลิตข้าวเหนียวเป็นสำคัญ ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลให้เกิดการปรับตัวของผู้บริโภคข้าวเหนียวโดยจะหันมาใช้ข้าวสารเจ้าที่มีราคาต่ำกว่ามาทดแทนในการบริโภค ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์การบริโภคข้าวเหนียวในภาพรวมหดตัวลง และในขณะเดียวกันจะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกกันเพิ่มขึ้นเพราะเห็นว่าได้ราคาดี ซึ่งจะมีผลทำให้ระดับราคาข้าวเหนียวลดลงได้

         สถานการณ์ข้าวเหนียวราคาแพง จึงน่าจะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากภาวะผิดปกติเฉพาะปีอันเนื่องจากภัยแล้งเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามการเกษตรจะต้องพึงระวังว่าข้าวเหนียวที่มีราคาดี คือข้าวเหนียวพื้นเมืองไม่ไวแสงหรือข้าวเหนียวเมล็ดยาว หากมีการขยายการผลิตข้าวเหนียวที่ปลูกได้มากกว่าหนึ่งครั้งกันมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ชลประทาน จะประสบปัญหาทางการตลาดและราคาตามมา เพราะตลาดข้าวเหนียวคุณภาพต่ำพันธุ์ไม่ไวแสงเป็นสินค้าที่มีตลาดจำกัดและไม่เป็นที่นิยมในการบริโภค แต่จะเกิดการปลอมปนกับข้าวเหนียวคุณภาพซึ่งจะเกิดผลเสียในตลาดข้าวเหนียวคุณภาพตามมา