โดย…รศ.สมพร อิศวิลานนท์
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก นับได้ว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสู่ผลกระทบอันนำไปสู่ความจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อก้าวให้ทันกับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการค้า
ผมเคยมีโอกาสไปร่วมงานสัมมนากับเกษตรกร และเครือข่ายทางสังคมในประเด็นเกี่ยวกับศักยภาพของชาวนาและเกษตรกรในการปรับตัว ที่มีความเป็นพลวัติของโลกการเปลี่ยนแปลง และเราคงจะได้ยินกันบ่อยทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และรวมถึงตัวเกษตรกร
ถ้าอย่างลึกซึ้งความยากจนของเกษตรกรนั้นด้านหนึ่งเกิดจากเกษตรกรขาดความรู้ หรือไม่เข้าใจหลักการจัดการไร่นาเชิงธุรกิจฟาร์ม ทั้งนี้เพราะการทำการเกษตรของเกษตรกรแต่ดั้งเดิมนั้น มีลักษณะของการทำเกษตรเพื่อยังชีพและเป็นวิถีชีวิต โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือนเป็นสำคัญ การทำการเกษตรของเกษตรกรจึงเป็นแบบการเรียนรู้สานต่อจากวิธีการผลิตที่บรรษพุรุษเคยทำกันมา
อีกด้านหนึ่งเกิดจากเกษตรกรไม่เข้าใจกลไกตลาดและขาดอำนาจต่อรองทางการตลาด ทำให้ตกเป็นผู้เสียเปรียบเมื่อนำผลผลิตออกขายสู่ตลาด
แม้ประเทศไทยจะมีการค้าขายสินค้าเกษตรโดยเฉพาะสินค้าข้าวกับต่างประเทศมาอย่างยาวนาน เพราะไทยมีอุปทานผลผลิตข้าวที่มีเหลือเพื่อการส่งออกมาอย่างยาวนาน หากย้อนนับไปสู่การเปิดประตูการค้าเสรีกับประเทศตะวันตกเมื่อประมาณกว่าสองร้อยปีที่ผ่านมานับจากที่ได้ทำสันธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษและรวมถึงการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกอื่นๆตามมาในรัชสมัยพระจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สี่ นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของโครงสร้างการเกษตรของประเทศไทย
เนื่องเพราะทำให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่และจำนวนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพการทำนามากขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคนั้นเพราะข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากอีกทั้งหลายประเทศในเอเชียในยุคนั้นผลิตข้าวได้ไม่เพียงพอและอยู่ในภาวะขาดแคลนอย่างมากโดยเฉพาะประเทศที่เป็นอาณานิคมของตะวันตก เช่นอินโดนิเซีย มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
ในที่สุดบนที่ราบของภาคกลางได้มีการขยายตัวของการผลิตข้าวเพื่อป้อนตลาดส่งออก ทำให้เกิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมโดยเฉพาะการขุดคูคลองเพื่อให้เป็นเส้นทางคมนาคมและการขนส่งสินค้าข้าว อีกทั้งสนับสนุนให้ประชากรไปบุกเบิกพื้นที่เพื่อการทำนาในภูมิภาคต่างๆมากขึ้น
ศาสตราจารย์เจมส์ ซี อินแกรม ได้เขียนหนังสือเรื่องการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ. 1850-1970(พ.ศ.2393-2513) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1952 ได้เล่าว่าหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงการส่งออกสินค้าข้าวและตลาดการค้าข้าวของไทยในต่างประเทศได้ขยายตัวอย่างมากหลังการเปิดเสรีทางการค้ากับตะวันตก
[adrotate banner=”3″]
ข้าวได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทยตั้งแต่นั้นมา พร้อมกับการสร้างรายได้ให้กับประเทศและชาวนาไทยเป็นอย่างมากมูลค่าส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นจาก 1.87 ล้านหาบ(1หาบเท่ากับ 60 กก.)เฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ.2413-17 มาเป็น 15.22 ล้านหาบหรือ เฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ. 2453-57 และเพิ่มขึ้นเป็น 25.37 ล้านหาบ เฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ.2473-77 ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวได้ขยายตัวจาก 11.5 ล้านไร่เฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ. 2453-57 มาเป็น 20.1 ล้านไร่เฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ.2473-77อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการค้าข้าวภาคเอกชนกับต่างประเทศ ได้ส่งผลต่อการขยายตัวของกลไกตลาดข้าวและการขยายตัวของจำนวนโรงสีข้าวที่เกิดในภูมิภาคต่างๆของไทยตามมา
อย่างไรก็ตามแม้ตลาดสินค้าข้าวจะมีการเปลี่ยนแปลงขยายตัวและเชื่อมโยงจากไร่นาสู่ตลาดส่งออกอย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่การที่เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวเป็นรายเล็กรายน้อยและมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำกัด จึงมีผลทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางเพื่อเข้าถึงระบบตลาดในการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตได้ ขาดอำนาจต่อรองและได้รับราคาต่ำ ซึ่งทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำนามีระดับรายได้ต่ำและตามไม่ทันกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ
การพัฒนาการเกษตรในช่วงครึ่งสตวรรษที่ผ่านมาแม้จะมีผลให้รูปแบบการผลิตข้าวการทำเกษตรของเกษตรกรโดยเฉพาะการทำนาได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ปัจจัยการผลิตในครัวเรือนไปสู่การจัดหาปัจจัยการผลิตจากระบบตลาดและการจ้างแรงงานมากขึ้นหรือที่เรียกว่าระบบธุรกิจฟาร์ม รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม
กระนั้น การขาดความเข้าใจในวิธีการจัดการการผลิตและผลผลิตไร่นาเชิงธุรกิจฟาร์มของเกษตรกรส่วนใหญ่ ทำให้อีกทั้งรูปแบบของการผลิตมุ่งเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดในการจำหน่ายผลผลิตได้อย่างเป็นธรรม รวมถึงการขาดอำนาจต่อรอง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายผลผลิตไม่มากพอ สิ่งที่ตามมาคือสถานะสุขภาวะเกษตรกรไทยยังอยู่ในภาวะที่มีรายได้น้อยอยู่ครับ!