โดย….รศ.สมพร อิศวิลานนท์
ภูมิภาคเอเชียใต้ประกอบไปด้วยประเทศ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ภูฐาน อัฟกานิสถาน เนปาล ศรีลังกา และมัลดีฟส์ ธัญพืชอาหารจานหลักที่สำคัญของประชากรในภูมิภาคนี้ได้แก่ข้าวและข้าวสาลี อย่างไรก็ตามประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังมีสัดส่วนของการบริโภคข้าวมากกว่าข้าวสาลี การผลิตข้าวในภูมิภาคนี้จึงเป็นทั้งพืชอาหารหลัก อาชีพ และวิถีชีวิตของครัวเรือนเกษตรในภูมิภาคไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ในภูมิภาคเอเชียใต้ยังเป็นแหล่งส่งออกข้าวที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก โดยมีอินเดียเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญของภูมิภาค
การบริโภคข้าวของเอเชียใต้
ภูมิภาคเอเชียใต้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกได้แก่อนุทวีปอินเดียได้แก่อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และรวมถึงกลุ่มประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยได้แก่ เนปาล ภูฐาน และอัฟกานิสถาน ส่วนที่สองได้แก่กลุ่มประเทศที่มีพื้นทะเลล้อมรอบได้แก่ ศรีลังกาและมัลดีฟส์ ในภาพรวมแล้วภูมิภาคเอเชียใต้มีประชากรทั้งหมดประมาณ 1.78 ล้านคน ทั้งนี้อินเดียมีประชากรมากที่สุดถึงสามในสี่ส่วนของประชากรในภูมิภาค รองลงมาได้แก่ปากีสถานและบังคลาเทศ การมีประชากรจำนวนมากทำให้อินเดียมีสัดส่วนการบริโภคข้าวถึงร้อยละ 67.70 (ประมาณ 93.57 ล้านตัน)ของการบริโภคข้าวภายในภูมิภาค(ประมาณ 138 ล้านตันข้าวสาร) (ตารางที่ 1) สำหรับอัตราการบริโภคข้าว ต่อคนของประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ โดยพิจารณาจากปริมาณการใช้ภายในประเทศหารด้วยจำนวน ประชากรของประเทศนั้นๆพบว่า บังคลาเทศมีสัดส่วนของการบริโภคข้าวต่อคนสูงที่สุดรองลงมาได้แก่ ภูฐาน ศรีลังกา และเนปาล ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของข้าวที่เป็นอาหารจานหลักในประเทศนั้นๆ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปากีสถานและอัฟกานิสถานมีการบริโภคข้าวต่อบุคคลในสัดส่วนที่ต่ำซึ่งหมายถึงข้าวไม่ได้เป็นอาหารจานหลักของประชากรในประเทศดังกล่าว
ตารางที่ 1 ประชากรและการบริโภคข้าวของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้
ประเทศ | ประชากร
(ล้านคน)a/ |
การบริโภค
(พันตันข้าวสาร)/ |
การบริโภคต่อคน
(ก.ก.) |
อินเดีย | 1,339.18 | 93,568b/ | 69.87 |
ปากีสถาน | 197.02 | 2,750b/ | 13.96 |
บังคลาเทศ | 164.67 | 35,000b/ | 212.54 |
เนปาล | 29.30 | 3,317c/ | 113.21 |
ภูฐาน | 0.80 | 129c/ | 161.25 |
อัฟกานิสถาน | 35.53 | 620b/ | 17.45 |
ศรีลังกา | 20.88 | 2,613c/ | 125.14 |
มัลดีฟส์ | 0.42 | 25d/ | 58.61 |
รวม | 1,787.80 | 138,022 | 77.20 |
ที่มา: a/ http://www.worldometers.info/world-population/southern-asia-population/
b/ USDA : World Rice Trade, October 2017;; c/ http://ricepedia.net/
d/ แปลงจากข้อมูลการนำเข้าจาก http://www.helgilibrary.com/
การบริโภคข้าวต่อคนของอินเดียมีมากกว่าการบริโภคข้าวต่อคนของปากีสถานและอัฟกานิสถาน และมีน้อยกว่าการบริโภคข้าวต่อคนของบังคลาเทศและศรีลังกา เนปาลและภูฐาน ซึ่งบ่งบอกถึงการบริโภคข้าวและข้าวสาลีเป็นอาหารจานหลักในประเทศดังกล่าวแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคย่อย โดยภูมิภาคทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียจะมีการบริโภคข้าวสาลีเป็นหลักมากกว่าข้าว ส่วนทางตอนใต้ ตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันตกของอินเดียประชากรจะบริโภคข้าวเป็นอาหารจานหลักมากกว่าข้าวสาลี ส่วนประเทศมัลดีฟส์นั้นการบริโภคมีเพียง 24.62 พันตันเนื่องจากมีประชากรจำนวนน้อยและการบริโภคต่อคนมีประมาณ 58.61 ก.ก.ต่อคนต่อปี
การผลิตข้าวของเอเชียใต้และการพึ่งพิงตนเองในภูมิภาค
การเพาะปลูกข้าวในเอเชียใต้ประกอบด้วยเกษตรกรขนาดเล็กเป็นจำนวนมากประมาณว่าในภูมิภาคเอเชียใต้มีครัวเรือนที่เพาะปลูกข้าวไม่น้อยกว่า 50 ล้านครัวเรือน[3] ทั้งนี้ FAO ได้รายงานว่าในภูมิภาคเอเชียใต้มีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวโดยรวมประมาณ 378.22 ล้านไร่ และมีผลผลิตโดยรวมประมาณ 151.66 ล้านตันข้าวสาร (ตารางที่ 2)หรือประมาณร้อยละ 36.21 ของผลผลิตข้าวสารในทวีปเอเชีย ประเทศผู้ผลิตข้าวในภูมิภาคนี้จัดแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มที่หนึ่งเป็นกลุ่มประเทศ ที่พึ่งพิงตนองเรื่องข้าวได้อย่างสมบูรณ์โดยมีอุปทานผลผลิตมากกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศซึ่งได้แก่อินเดียและปากีสถาน ทั้งนี้อินเดียมีสัดส่วนของผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 68.84 ของผลผลิตในภูมิภาค ส่วนปากีสถานมีสัดส่วนการผลิตเพียงร้อยละ 4.48 ซึ่งน้อยกว่าผลผลิตของบังคลาเทศ แต่การที่ประชากรในประเทศมีการบริโภคข้าวน้อยกว่า
ตารางที่ 2 พื้นที่เก็บเกี่ยว ผลผลิต และอุปทานผลผลิตส่วนเกินและส่วนขาดของประเทศในเอเชียใต้
ประเทศ | พื้นที่เก็บเกี่ยว
(ล้านไร่) |
การผลิต
(พันตันข้าวสาร)b/ |
อุปทานส่วนเกิน2/
(พันตันข้าวสาร)b/ |
กลุ่มประเทศที่พึ่งพิงตนเองเรื่องข้าวได้อย่างสมบูรณ์ | |||
อินเดีย | 274.09 | 104,408 | +10,840 |
ปากีสถาน | 18.07 | 6,800 | +4,050 |
รวม | 292.16 | 111,208 | 14,890 |
กลุ่มประเทศที่ไม่สามารถพึ่งพิงตนเองเรื่องข้าวได้อย่างสมบูรณ์ | |||
บังคลาเทศ | 70.75 | 34,580b/ | -420b/ |
เนปาล | 9.29 | 3,280c/ | -37c/ |
ภูฐาน | 0.13 | 50c/ | -79c/ |
อัฟกานิสถาน | 1.38 | 460b/ | -160b/ |
ศรีลังกา | 5.01 | 2,198c/ | -415c/ |
มัลดีฟส์ | – | – | -25d/ |
รวม | 86.56 | 40,456 | -1,136 |
รวมทั้งหมด | 378.72 | 151,6648 | +13,754 |
หมายเหตุ: +หมายถึงอุปทานผลผลิตส่าวนเกินและ-หมายถึงอุปทานผลผลิตส่วนขาด
ที่มา: b/ USDA : World Rice Trade, October 2017; ;; c/ http://ricepedia.net/
d/ แปลงจากข้อมูลการนำเข้า http://www helgilibrary.com/indicators/rice
การบริโภคข้าวสาลีทำให้ปากีสถานมีอุปทานผลผลิตข้าวส่วนเกินจากการใช้บริโภคภายในประเทศ ปริมาณผลผลิตข้าวส่วนเกินของสองประเทศนี้มีรวมกันประมาณ 14.89 ล้านตันข้าวสาร โดยอินเดียมีอุปทานผลผลิตส่วนเกินถึงร้อยละ 72.80 ของอุปทานผลผลิตส่วนเกินในภูมิภาคและที่เหลืออีกร้อยละ 27.20 เป็นอุปทานผลผลิตส่วนเกินจากปากีสถาน ดังนั้น ทั้งสองประเทศดังกล่าวจึงพึ่งพิงตนเองเรื่องข้าวได้อย่างสมบูรณ์และมีปริมาณส่วนเกินส่งเป็นสินค้าออก
กลุ่มที่สองประกอบด้วยกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถพึ่งพิงตนเองเรื่องข้าวได้อย่างสมบูรณ์เพราะมีปริมาณผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศและต้องนำเข้าข้าวมาเสริม ได้แก่ บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฐาน และอัฟกานิสถาน ดังจะเห็นได้ว่าการมีประชากรจำนวนมากของบังคลาเทศและพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศที่ได้รับผลกระทบทั้งจากภัยน้ำท่วมและฝนแล้งอยู่เป็นประจำทำให้ปริมาณผลผลิตในแต่ละปีของบังคลาเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศและต้องนำเข้าข้าวมาเสริมให้กับอุปทานผลผลิตภายในประเทศ ในขณะที่เนปาล ภูฐาน และอัฟกานิสถานมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวน้อยเพราะเป็นประเทศที่รายล้อมด้วยภูเขาสูงทำให้มีเนื้อที่การเกษตรค่อนข้างจำกัด
ส่วนประเทศศรีลังกาเนื่องจากเป็นประเทศที่มีทะเลล้อมรอบ พื้นที่ๆใช้เพาะปลูกข้าวมีจำกัดและต้องนำเข้าข้าวมาเพิ่มให้กับอุปทานผลผลิตในประเทศเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ในกรณีของประเทศมัลดีฟส์ซึ่งเป็นหมู่เกาะเล็กๆใมหาสมุทรอินเดียพบว่าไม่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าว ข้าวที่ใช้บริโภคภายในประเทศจึงเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด
ประเทศในกลุ่มที่สองนี้จะมีผลผลิตข้าวโดยรวมประมาณ 40.46 ล้านตัน และมีการใช้บริโภคภายในประเทศ 41.70 ล้านตัน ทำให้มีอุปทานผลผลิตไม่เพียงพอซึ่งนอกจากจะใช้จากสต็อกภายในประเทศแล้วยังได้นำเข้าข้าวอีกประมาณ 1.14 ล้านตัน[4] ในปี 2559
อย่างไรก็ตามหากหากพิจารณาถึงอุปทานส่วนเกินของผลผลิตส่วนเกินสุทธิในภูมิภาคแล้วพบว่ามีมากถึง 13.75 ล้านตัน[5] ซึ่งอุปทานส่วนเกินดังกล่าวจะถูกส่งออกไปยังนอกภูมิภาค
อินเดียผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของภูมิภาคเอเชียใต้
ในภูมิภาคเอเชียใต้อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในภูมิภาค อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาอินเดียยังได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวลำดับหนึ่งของโลกอีกด้วย โดยในปี 2559 อินเดียมีปริมาณส่งออกข้าวรวม 9.99 ล้านตันข้าวสาร[6] การส่งออกข้าวของอินเดียแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ข้าวบาสมาติ ข้าวนึ่ง และข้าวข้าวอื่นๆ ทั้งนี้หากดูสัดส่วนการส่งออกข้าวทั้งสามชนิดในปี 2559 พบว่าอินเดียส่งออกข้าวบาสมาติมากที่สุดหรือร้อยละ 38.89 รองลงมาได้แก่ข้าวนึ่งร้อยละ 36.72 และข้าวสารขาวและอื่นๆร้อยละ 24.39 ตามลำดับ (ตารางที่ 3)
ตลาดส่งออกข้าวของอินเดียหากแบ่งตามชนิดของข้าวพบว่า ตลาดข้าวบาสมาติที่สำคัญของอินเดียใน 5 ลำดับแรก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน อิรัค และคูเวต ตลาดข้าวนึ่งของอินเดีย 5 ลำดับแรกได้แก่ เบนิน กินี-บิสเซา โซมาเลีย โกดดิวัวร์ และแอฟริกาใต้ ส่วนตลาดข้าวขาวของอินเดีย 5 ลำดับแรก ได่แก่ เนปาล สหรัฐอาหรับเอมิเรดส์ เตอร์กี อิรัค และมาดากัสการ์ (ตารางที่ 4)
ตารางที่ 3 ปริมาณการส่งออกข้าวของอินเดียแยกตามประเภทข้าวปี พ.ศ. 2559
ชนิดของข้าว | การส่งออก | |
ชนิดของข้าว | ปริมาณ(ตัน) | ร้อยละ |
ข้าวบาสมาติ | 3,884,601 | 38.89 |
ข้าวนึ่ง | 3,667,111 | 36.72 |
ข้าวขาวอื่นๆ | 2,436,034 | 24.39 |
รวม | 9,987,745 | 100.00 |
ที่มา: คำนวณจากข้อมูล Global Trade
adrotate banner=”3″]
ตารางที่ 4 การส่งออกข้าวแยกตามชนิดของอินเดียไปยังตลาดหลัก 5 ประเทศแรกในปี 2559
ประเภทข้าว | ประเทศที่นำเข้าข้าวจากอินเดีย 5 ลำดับ |
บาสมาติ | ซาอุดีอาระเบีย(799,393 ตัน); สหรัฐอาหรับเอมิเรดส์(661,923ตัน); อิหร่าน(658,202ตัน); อิรัค(374,244ตัน); คูเวต(158,890ตัน) |
ข้าวนึ่ง | เบนิน(627,165ตัน); กินี-บิสเซา(497,028ตัน); โซมาเลีย(313,443ตัน); โกดดิวัวร์(263,684ตัน); อเมริกาใต้(250,897ตัน) |
ข้าวขาว | เนปาล(459,192ตัน); สหรัฐอาหรับเอมิเรดส์(141,652ตัน); เตอร์กี(138,022ตัน); อิรัค(112,981ตัน); และมาดากัสการ์(65,114ตัน) |
ที่มา: คำนวณจากข้อมูล Global Trade
เนื่องจากข้าวบาสมาติเป็นข้าวหอมและข้าวคุณภาพมีแหล่งผลิตจำเพาะในเอเชียใต้ โดยมีอินเดียเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ในภูมิภาค ตลาดการค้าข้าวบาสมาติของโลกมีประมาณ 4.5 ล้านตันในที่นี้
อินเดียเป็นผู้ถือครองตลาดประมาณสี่ในห้าส่วนของตลาดข้าวบาสมาติ คู่แข่งขันในตลาดข้าวหอมบาสมาติของอินเดียได้แก่ปากีสถานซึ่งมีปริมาณการส่งออกประมาณหนึ่งในห้าส่วนของการส่งออกข้าวบาสมาติ สำหรับตลาดข้าวนึ่งโลกที่มีอยู่ประมาณ 6 ล้านตันนั้น อินเดียเป็นผู้ถือครองตลาดข้าวนึ่งประมาณสามในห้าส่วนของตลาดข้าวนึ่งโลกโดยมีไทยเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญในตลาดการค้าข้าวนึ่งของอินเดีย สำหรับตลาดข้าวขาวซึ่งมีการแข่งขันสูงมากคู่แข่งขันที่สำคัญของอินเดียใตลาดการค้าข้าวสารขาวโลกได้แก่เวียดนาม ไทย และปากีสถาน
ดังนั้น การพึ่งพิงตนเองเรื่องข้าวของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้โดยเฉพาะอินเดียและปากีสถานยังสามารถมีผลผลิตข้าวส่วนเกินส่งเป็นสินค้าออก ยกเว้นบังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล อัฟกานิสถานและมัลดีฟส์ ที่ไม่สามารถพึ่งพิงตนเองได้อย่างสมบูรณ์และเป็นผู้นำเข้าข้าวทั้งจากในภูมิภาคและนอกภูมิภาค สำหรับประเทศอินเดียที่มีผลผลิตส่วนเกินจำนวนมากจะยังคงเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญในตลาดการค้าข้าวนึ่งและข้าวสารขาวของโลก สำหรับตลาดข้าวบาสมาติซึ่งมีความจำเพาะของตลาด อินเดียจะยังคงครองความเป็นผู้นำของตลาดข้าวดังกล่าวไปอีกนาน
[1] บทความนี้ได้เคยนำลงในนิตยสารข้าวไทย ฉบับที่ 61 ตุลาคม-ธันวาคม 2560
[2] นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติและผู้ประสานงานชุดโครงการ ”งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย”สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
[3] IRRI “Rice in South Asia”
[4] ตัวเฃขปริมาณการนำเข้าจะไม่เท่ากับปริมาณผลผลิตหักด้วยปริมาณการบริโภค เพราะบางส่วนอาจจะใช้สต็อกที่เก็บไว้ในประเทศมาเสริม
[5] คำนวณจากปริมาณผลผลิตทั้งหมดหักด้วยปริมาณการบริโภคทั้งหมดในภูมิภาค
[6] ข้อมูลจาก Global Trade