โดย…รศ.สมพร อิศวิลานนท์
คราวที่แล้ว ได้พูดถึงตอนข้าวของหพม่าได้หดตัวลงเล็กน้อยระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ.2531 แต่เนื่องจากการขยายตัวของประชากรของพม่าในช่วงดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 29.2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2516 มาเป็น 39.3 ล้านคนในปี พ.ศ. 2531 มีผลให้ผลผลิตข้าวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้นต้องใช้ไปกับการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ และมีเหลือเพียงเล็กน้อยเพื่อการส่งออก
คราวนี้จะเล่าต่อถึงการส่งออกข้าวของพม่าซึ่งมีปริมาณการส่งออก 1.75 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2503 ได้ถดถอยลดลงเป็น 0.54 ล้านตันในปี พ.ศ. 2509 และลดต่ำลงเป็น 0.15 ล้านตันในปี พ.ศ. 2516 และแกว่งตัวอยู่ในช่วง 0.2-0,7 ล้านตันในช่วง พ..ศ. 2517-2528
อีกทั้ง การทีรัฐบาลสังคมนิยมพม่าได้ออกระเบียบให้เกษตรกรแต่ละรายต้องจัดส่งข้าวให้รัฐบาลในจำนวนที่กำหนด และหากมีส่วนเกินที่จะขายก็ให้ขายให้กับรัฐในราคาที่กำหนดตายตัว รวมถึงการควบคุมเอกชนทำธุรกิจตลาดข้าว ควบคุมระบบโรงสีข้าว ตลาดขายส่งและขายปลีก ได้เป็นต้นทุนที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการไม่ขยายตัวในปริมาณผลผลิตและนำไปสู่ภาวะหดตัวของสินค้าข้าวส่งออก
ผลของนโยบายดังกล่าวได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงกับอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าข้าวของพม่า เพราะนอกจากมีผลให้ผลผลิตส่วนเกินเพื่อการส่งออกข้าวของพม่าหดตัวและถดถอยลงแล้ว อีกทั้งคุณภาพข้าวที่รัฐรวบรวมได้ก็อยู่ในสภาพที่ตกต่ำลงด้วยเช่นกัน
หลักจากปี พ.ศ. 2531 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในพม่าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะทหารได้จัดตั้งรัฐบาลและจัดตั้งสภาฟื้นฟูแห่งชาติ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้รัฐบาลทหารไม่ได้ดำเนินการตามหลักการรัฐสวัสดิการสังคมนิยมดังช่วงเวลาก่อนหน้านี้ แต่ได้ยอมรับในหลักการของเศรษฐกิจเสรีภายใต้กลไกตลาดมาใช้ นโยบายเกี่ยวกับเรื่องข้าวของรัฐบาลพม่าภายใต้ผู้นำทางทหาร ได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการขยายการผลิตข้าวให้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศและส่งออกในส่วนที่มีเหลือ
ทั้งนี้ได้ยกเลิกการบังคับซื้อข้าวในระดับราคาต่ำจากเกษตรกร พร้อมกับการกำหนดการส่งมอบข้าวภายใต้โควต้าที่เกษตรกรจะต้องส่งมอบให้กับรัฐบาลในสัดส่วนที่ลดลง ได้เป็นแรงจูงใจที่สำคัญในภาคการผลิต เมื่อผนวกเข้ากับนโยบายการสนับสนุนให้เกษตรกรได้เข้าไปใช้พื้นที่ว่างเปล่าเพื่อการผลิตพืชอาหารเพิ่มมากขึ้น สนับสนุนและให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ได้แก่การชลประทาน การคมนาคมขนส่ง การพัฒนาโครงสร้างทางการตลาด รวมถึงการเร่งส่งเสริมการผลิตข้าวพันฑุ์ไม่ไวแสงที่ให้ผลผลิตสูง ได้ส่งผลต่อการขยายตัวของผลผลิตข้าวและทำให้อุปทานผลผลิตมีมากกว่าการใช้บริโภคภายในประเทศทำให้มีข้าวส่วนเกินส่งเป็นสินค้าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น
[adrotate banner=”3″]
นับจากปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาผลผลิตข้าวของพม่า ได้ขยายตัวจาก 30 ล้านไร่เพิ่มขึ้นเป็น 39 ล้านไร่ในปี พ.ศ. 2538 โดยมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 13.2 ล้านตัน เป็น 17 ล้านตัน ในช่วงเวลาเดียวกัน และหลังจากนั้นมาพื้นที่และผลผลิตข้าวของพม่าได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2556 มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 46 ล้านไร่ และมีผลผลิต 28 ล้านตันข้าวเปลือก ทำให้การส่งออกข้าวของพม่าขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านตันข้าวสาร
ในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าผลผลิตข้าวในพม่าได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปไปสู่การใช้เศรษฐกิจที่พึ่งพิงกับกลไกตลาดมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการสร้างความปรองดองทางการเมืองในพม่าระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทำให้ประชาธิปไตยในพม่าแตกหน่อของความงอกงามขึ้น จนได้มีการเลือกตั้ง และพลเรือนขึ้นมาบริหารในปัจจุบัน
การปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเมืองดังกล่าวได้ส่งผลให้กลุ่มประเทศตะวันตกและรวมถึงสหรัฐอเมริกาและอียู ได้ปรับความสัมพันธ์ในการให้ความร่วมมือในฐานะมิตรประเทศตามมา รวมถึงยกเลิกการคว่ำบาททางเศรษฐกิจที่มีกับพม่าอยู่ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ความสัมพันธุ์ร่วมมือของพม่ากับประเทศในประชาคมอาเซียนที่ใกล้ชิดมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เร่งให้เกิดพลวัตของการปฏิรูปไปสู่เศรษฐกิจเสรีในประเทศพม่ามากขึ้น อีกทั้ง การมีทรัพยากรต่างๆที่อุดมสมบูรณ์จำนวนมากของพม่า ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในพม่าอย่างก้าวกระโดด
สำหรับการส่งออกข้าวของพม่า เป็นที่คาดการณ์ว่าการขยายตัวของการส่งออกข้าวของพม่าจะมีมากกว่า 2 ล้านตัน[2] ทำให้ปริมาณอุปทานในตลาดการค้าข้าวโลกมีเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าอุปสงค์ ทำ USDA ได้ทำนายว่าอุปทานข้าวโลก จากเดิมปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 38 ล้านตันขึ้นเป็น 40 ล้านตัน
สถานการณ์ดังกล่าวคาดเดาได้ว่าจะทำให้ภาวะการเคลื่อนไหวทางด้านราคาสินค้าข้าวในตลาดการค้าข้าวโลกจะยังคงเคลื่อนไหวแกว่งตัวในช่วงแคบๆ และมีทิศทางไปในทางขาลงมากกว่าการเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่พม่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดส่งออกในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านึ้ คงทำนายได้ว่ายังมีโอกาสเป็นไปได้ยาก แต่กนะนั้นในอนาคตก็น่าจับตามองพอสมควรครับ!