จับพม่า…จะก้าวเป็นผู้นำส่งออกข้าวได้ไหม(1)

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

                ปัจจุบันประเทศเมียนมาร์ หรือพม่า กำลังพัฒนาภาคการเกษตรครั้งใหญ่ มีนักลงทุนจากต่างชาติไปลงทุนด้านที่เมียนมาร์ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ มาเลเซีย รวมถึงไทยเราด้วย ว่ากันว่าเพราะในเมียนมาร์สภาพของที่ดินยังอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่เกษตรเป็นอย่างยิ่ง

               หากย้อนดูประวัติศาสตร์ในอดีต พม่าเคยเป็นผู้นำในตลาดส่งออกข้าวโลกโดยเฉพาะในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เรื่อยมาจนถึงช่วงก่อนส่งครามโลกครั้งที่สองซึ่งพม่ายังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษก่อนจะได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ในยุคนั้น พม่าเป็นผู้ส่งออกข้าวมากถึง 3.4  ล้านตันข้าวสาร ในปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936)

              ขณะที่ไทยมีการส่งออกข้าวในช่วงดังกล่าวเพียง 1.54 ล้านตันข้าวสาร การที่พม่าส่งออกได้มากเป็นเพราะความพยายามของอังกฤษในการเพิ่มผลผลิตข้าวให้กับพม่า ซึ่งอยู่ภายใต้อาณานิคม แล้วนำผลผลิตข้าวส่งออกไปทั้งในยุโรปและประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษในเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย และศรีลังกา เนื่องจากภาวะการขาดแคลนธัญญพืชอาหารในกลุ่มประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ  กิจกรรมการผลิต กิจกรรมโรงสีข้าว และกิจกรรมทางการตลาดข้าวในพม่าจึงคึกคักมากเพราะข้าวเป็นสินค้าขาดแคลน และในยุคนั้นอุปสงค์มีมากกว่าอุปทานในตลาดการค้าข้าวโลก

             ในช่วงส่งครามโลกครั้งที่สองประเทศพม่าเป็นฐานที่ตั้งของกองกำลังสัมพันธมิตรที่สำคัญแห่งหนึ่ง และได้มีการสู้รบกับญี่ปุ่นที่พยายามจะเข้ายึดครองพม่า ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำลายทั้งเส้นทางรถไฟ เส้นทางคมนาคม อื่นๆ รวมถึงเขื่อนชลประทานที่ได้พัฒนาไว้ก่อนหน้านั้น  นอกจากนี้ การหลบหนึ้ภัยสงครามของประชาชนพม่ากระจายไปในทิศทางต่างๆ  ทำให้การผลิตข้าวและผลผลิตข้าวหดตัวลง โดยพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้ลดลงจาก 31 ล้านไร่ในปี 2483 มาเป็น 16  ล้านไร่ในปี พ.ศ. 2488 หรือลดลงมาเกือบเท่าตัว ในขณะที่ผลผลิตข้าวของพม่าได้ลดลงจาก 6.8 ล้านตันข้าวเปลือก ลงมาเหลือ 2.8 ล้านตันในช่วงเวลาดังกล่าว

            อย่างไรก็ตามภายหลังส่งครามสงบลง ในปี พ.ศ. 2491 และพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศภายใต้ชื่อว่า “Simla Plan” และ “Pyidawtha Plan” ในช่วงเวลาต่อมาเพือพัฒนาการผลิตข้าวให้กลับสู่สถานภาพก่อนส่งคราม ซึ่งส่งผลให้การผลิตข้าวของพม่าเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 5.4 ล้านตันข้าวเปลือกในปี พ.ศ. 2500 แต่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้น กลับใช้บริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ  มีการส่งออกในปีดังกล่าวลดลงเหลือ 1.75 ล้านตันข้าวสารหรือประมาณร้อยละ 51ของข้าวสารที่ผลิตได้  แต่ก็ยังคงถือครองเป็นผู้ส่งออกลำดับที่หนึ่งที่สูงกว่าการส่งออกของไทย 1.57 ล้านตัน

 [adrotate banner=”3″]

             ความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างกลุ่มต่างๆที่อังกฤษได้รวบรวมจัดตั้งขึ้นเป็นประเทศพม่า เช่นความขัดแย้งกับกลุ่มรัฐชาน และคะชิ่น เป็นต้น ได้เป็นเหตุให้คณะทหารได้เข้ามาปกครองประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ คณะทหารและได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นพร้อมกับการดำเนินนโยบายไปในสู่การเป็นรัฐสวัสดิการสังคมนิยมเรื่อยมาในระหว่างปี พ.ศ. 2505 ถึงจนถึงปี พ.ศ. 2531

             ในช่วงของการปกครองแบบสังคมนิยมในพม่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการบริหารและรวมถึงแผนพัฒนาการเกษตร โดยมีการจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นในระดับต่างๆตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงในระดับหมู่บ้าน แม้นโยบายของรัฐบาลสังคมนิยมพม่าจะให้ความสำคัญกับการให้การอุดหนุนปัจจัยการผลิตพร้อมๆกับการสนับสนุนในด้านงานส่งเสริมการเกษตร

              กระนั้นการที่รัฐเป็นผู้เข้าควบคุมกลไกตลาดข้าวในประเทศและตลาดส่งออก รวมถึงกิจกรรมโรงสีข้าว การขนส่ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการถือครองที่ดินจากการที่เอกชนหรือเกษตรกรแต่ละคนมีเอกสิทธิ์ในที่ดินของตนเองอย่างสมบูรณ์ มาเป็นระบบการถือครองโดยรัฐเป็นเจ้าของที่ดินและให้เกษตรกรหรือเอกชนได้สิทธิเพียงเป็นผู้ใช้ประโยชน์  อีกทั้งยังให้การอุดหนุนเรื่องราคาข้าวและอาหารให้กับผู้บริโภคในเมือง ทำให้ภาคการเกษตรของพม่าตกอยู่ในภาวะชงักงัน

              การปฏิรูปการเกษตรภายใต้การเป็นรัฐสวัสดิการสังคมนิยมของพม่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พร้อมๆกับการขยายผลจากเทคโนโลยีปฏิวัติเขียว ทำให้เกิดการแพร่กระจายของพันธุ์ไม่ไวแสงมากขึ้น และมีการปลูกข้าวมากกว่าหนึ่งครั้งในบางพื้นที่  โดยพบว่าผลผลิตข้าวของพม่าได้เพิ่มขึ้นจาก 6.6 ล้านตันข้าวเปลือกในปี  2509 เป็น 14 ล้านตันข้าวเปลือกในปี 2524

              ต่อมาได้หดตัวลงเล็กน้อยระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ.2531  แต่เนื่องจากการขยายตัวของประชากรของพม่าในช่วงดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 29.2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2516 มาเป็น 39.3 ล้านคนในปี พ.ศ. 2531 มีผลให้ผลผลิตข้าวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้นต้องใช้ไปกับการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ และมีเหลือเพียงเล็กน้อยเพื่อการส่งออก

            ส่วนปัจจุบันสถานการณ์การส่งออกข้าวของพม่าเป็นอย่างไร ติดตามวันศุกร์หน้า จะเล่าต่อครับ!